MAIN STAND คุยกับ 'ณัฐกร วิทิตานนท์' มองอนาคตฟุตบอลลีกภูมิภาคผ่านการเลือกตั้งท้องถิ่น



เมื่อช่วงต้นเดือน ธ.ค. 2563 เว็บไซต์ MAIN STAND ได้เผยแพร่ บทสัมภาษณ์พิเศษ ดร.ณัฐกร วิทิตานนท์ อาจารย์ประจำภาควิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง 'THE GLOCAL - ท้องถิ่นเคลื่อนโลก' โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

จุดเริ่มต้นความสัมพันธ์ ระหว่างนักการเมืองท้องถิ่น กับฟุตบอลรากหญ้าเริ่มต้นจากตรงไหน

จุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้นักการเมืองหันมาทำทีมฟุตบอล คือเหตุการณ์รัฐประหาร พ.ศ. 2549 ผลพวงที่ตามมาคือนักการเมืองบางคนถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองจากการวินิจฉัยของศาล ซึ่งนักการเมืองพอไม่สามารถจะสร้างผลงานทางการเมืองได้ เขาก็ต้องหาอย่างอื่นทำ เพราะเล่นการเมืองไม่ได้แล้ว

พวกเขาต้องหาทางใหม่ที่จะนำเสนอตัวเอง สร้างผลงานให้กับท้องถิ่น นักการเมืองจำนวนหนึ่ง จึงตัดสินใจเปลี่ยนสนามการเมืองของตัวเองมาที่วงการกีฬา บางคนก็ไปรับตำแหน่งนายกสมาคมกีฬาของจังหวัด บางคนหันมาทำทีมฟุตบอลในจังหวัด

ฟุตบอลกลายเป็นเครื่องมือในการโปรโมตตัวนักการเมือง ว่าถึงจะถูกแบนจากเวทีการเมือง แต่พวกเขาก็ยังคงทำอะไรบางอย่างเพื่อท้องถิ่นอยู่ ซึ่งฟุตบอลไทย ณ เวลานั้น ตอบโจทย์มากกับนักการเมืองกลุ่มนี้

มันจึงทำให้นักการเมืองท้องถิ่น กลายเป็นผู้มีบทบาทอย่างมากกับฟุตบอลรากหญ้าในสมัยก่อน

นักการเมืองมีบทบาทมากแค่ไหน กับการผลักดันฟุตบอลลีกภูมิภาคบูมขึ้นมาในยุคนั้น

นักการเมืองมีส่วนสำคัญมากที่ทำให้ลีกภูมิภาคได้รับความนิยมขึ้นมาในช่วงหนึ่ง มันเป็นเพราะว่าปัจจัยหลายอย่าง ของทั้งฟุตบอลและการเมืองในช่วงเวลานั้น เอื้อให้กับนักการเมืองท้องถิ่นในการทำทีมฟุตบอล


Photo : Suphanburi FC

อย่างแรกคือเรื่องของสนาม เพราะสนามฟุตบอลคือทรัพยากรหลักของทีมฟุตบอล ถ้าคุณไม่มีสนามเป็นของตัวเอง การทำทีมฟุตบอลไทยคือเรื่องยากมากในสมัยก่อน สมมติคุณเป็นบริษัทเอกชน ถ้าจะทำทีมฟุตบอลในต่างจังหวัด คุณต้องไปเสียเงินเช่าสนาม เสียค่าใช้จ่ายเยอะแยะมากมาย มันก็ดูเป็นการลงทุนที่ได้ไม่คุ้มเสีย

แต่สำหรับนักการเมืองท้องถิ่น เขามีทรัพยากรตรงนี้อยู่ในมือ โดยเฉพาะถ้าคุณมีตำแหน่งอยู่ใน อบจ. (องค์การบริหารส่วนจังหวัด) เพราะตามกกฎหมายแล้ว สนามกีฬาประจำจังหวัด จะถือว่าเป็นทรัพย์สินของ อบจ.

ดังนั้น ถ้านักการเมืองท้องถิ่นที่เป็น อบจ. ทำทีมฟุตบอล สิ่งแรกที่เอื้อประโยชน์ให้ คือ ไม่ต้องเสียค่าเช่าสนาม สามารถลดงบค่าดูแลต่าง ๆ อย่างการรักษาความปลอดภัย สามารถดึงตำรวจในพื้นที่มาทำได้

พอนักการเมืองสามารถลดค่าใช้จ่ายบางส่วนออกไป ทำให้สามารถนำเงินไปเน้นใช้กับการเซ็นนักเตะฝีเท้าดี ราคาแพงมาร่วมทีม ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า การมีนักเตะที่เก่ง และมีชื่อเสียงมาเล่นในลีกระดับล่าง มันช่วยสร้างกระแสนิยมให้กับฟุตบอลได้จริง

อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญคือ ถ้าคุณเป็นนักการเมืองท้องถิ่นที่มีตำแหน่งสำคัญใน อบจ. คุณสามารถนำงบของหน่วยงานท้องถิ่นมาสนับสนุนทีมฟุตบอลได้ ในฐานะส่วนหนึ่งของการให้เงินอุดหนุนองค์กรที่สร้างคุณประโยชน์ให้กับสังคมท้องถิ่น ในอดีตมันยังเป็นเรื่องที่ถูกกฎหมาย สามารถทำได้ และทีมฟุตบอลคือหนึ่งในนั้น

หลายสโมสรฟุตบอลได้ประโยชน์จากข้อได้เปรียบของการมีคนทำทีมเป็นนักการเมืองท้องถิ่น ไม่ใช่แค่ทีมในระดับลีกภูมิภาคที่ได้ประโยชน์ แต่รวมถึงทีมประจำจังหวัดที่อยู่ในลีกใหญ่ อาทิ บุรีรัมย์, ชลบุรี ก็ได้ประโยชน์จากเรื่องนี้เหมือนกัน

นักการเมืองเป็นกลุ่มคนเหมาะกับการทำทีมฟุตบอลท้องถิ่น แต่จริง ๆ แล้ว จำเป็นไหมที่นักการเมืองจะต้องมาทำทีมฟุตบอล

มันมีทั้งคนที่อยากทำจริง ๆ กับคนที่อยากใช้ฟุตบอลในการสร้างฐานเสียงทางการเมือง เพราะกีฬานี้ช่วยทำให้นักการเมืองมีผลงานได้จริง



ยกตัวอย่าง ในหลายจังหวัด นักการเมืองที่ทำทีมฟุตบอล ไปจับมือกับโรงเรียนท้องถิ่น ทำเป็นในลักษณะเหมือนอคาเดมีฟุตบอล ส่งเด็กในจังหวัดทั้งเรียน และเล่นฟุตบอล นี่คือการทำผลงานในระบบการเมืองท้องถิ่นที่ชัดเจน กับการนำงบประมาณมาช่วยสนับสนุนเยาวชน สร้างโอกาสให้กับเด็กในท้องถิ่นได้เรียนหนังสือ ได้เล่นฟุตบอล

แต่บางคนก็ไม่ได้อยากทำขนาดนั้น ด้วยปัจจัยรอบตัว ทั้งคำเชื้อเชิญ หรือแรงกดดันจากคนรอบข้าง ที่อยากจะเห็นทีมฟุตบอล ด้วยความเป็นนักการเมืองที่มีอำนาจในจังหวัด บางทีก็ไม่สามารถปฏิเสธได้ เพราะสุดท้ายหน้าที่ของนักการเมือง คือ การต้องรับใช้สังคมและสร้างผลประโยชน์แก่ท้องถิ่น

เพราะสุดท้ายถ้าคุณไม่ทำทีม มันก็อาจกระทบกับคะแนนเสียง หรือชาวบ้านที่เขาชอบฟุตบอล อาจจะเสียศรัทธาในตัวคุณ ? "ทำไมจังหวัดอื่นมีทีมฟุตบอล แต่บ้านเราไม่มี" อะไรแบบนี้ สุดท้ายพอในจังหวัดไม่มีใครทำ นักการเมืองก็ต้องรับเอามาทำไว้ก่อน

มีความเชื่อกันว่า นักการเมืองท้องถิ่นทำทีมฟุตบอลเพื่อหวังคะแนนเสียง ในความเป็นจริงแล้ว การทำทีมฟุตบอลตอบโจทย์กับการสร้างความนิยมทางการเมืองจริงไหม

ผมว่านี่คือคำถามที่ตอบยากนะ ว่าการทำฟุตบอลจะมีผลให้ประชาชนเลือกนักการเมืองไหม เราไม่มีทางรู้คำตอบที่แท้จริงว่า สุดท้ายนักการเมืองคนนั้นได้ชนะการเลือกตั้งเพราะอะไร นอกจากเราจะลงพื้นที่ไปถามผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งทีละคน

จริงอยู่ว่า มีนักการเมืองที่ทำทีมฟุตบอล และประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งอยู่เยอะ ดังนั้นมันก็ไม่ผิดที่จะบอกว่า ถ้าทำทีมฟุตบอล นักการเมืองมีเปอร์เซนต์จะเป็นผู้ชนะ


Photo : dialysoccerthailand.blogspot.com

แต่ในความคิดของผม ผมมองว่าการเลือกตั้งท้องถิ่น มันมีหลายปัจจัยมาก ที่จะทำให้คนตัดสินใจเลือกนักการเมืองสักคน บางคนดูเรื่องนโยบาย บางคนก็เลือกแค่พรรค ไม่สนนโยบาย หรือฟุตบอลก็อาจจะเป็นปัจจัยหนึ่ง ที่ทำให้คนเลือกนักการเมืองที่ทำทีมฟุตบอล

การเลือกตั้งมันมีความคิดที่ซับซ้อน บางทีฟุตบอลอาจจะเป็นปัจจัยหลักในการลงคะแนนสำหรับบางคน หรือเป็นปัจจัยรอง และสำหรับบางคนอาจจะไม่มีผลเลยก็ได้ มันเป็นไปได้หมด

แต่ที่แน่นอนคือการทำทีมฟุตบอล ไม่ใช่เครื่องรับประกันว่า คุณทำทีมแล้วจะชนะการเลือกตั้ง เพราะคนที่แพ้ก็มีไม่น้อย

ยกตัวอย่างเช่น คุณสุนี สมมี ประธานกิตติมศักดิ์สโมสร ลำปาง เอฟซี ก็เคยเป็นนายก อบจ. ของจังหวัดมาก่อน และทำทีมฟุตบอลมาตลอด แต่พอลงเลือกตั้ง ส.ส. ระดับประเทศ เมื่อปีที่ผ่านมา ได้คะแนนแค่ 4 พันเสียง แพ้ยับเยินให้กับฝั่งเพื่อไทย

ในทางกลับกัน บางคนไม่ทำทีมฟุตบอล หรือเคยทำแล้วเลิกทำทีมไป แต่ชนะการเลือกตั้งก็มี อย่างเคสของจังหวัดพะเยา เขาเคยมีทีมฟุตบอล ทำโดย คุณธรรมนัส พรหมเผ่า แล้วพอถึงจุดหนึ่งคุณธรรมนัสก็เลิกทำ ตัดสินใจพักทีม ทีมพะเยาก็หายไปจากลีกอาชีพ

แต่พอมาถึงการเลือกตั้งเมื่อปีที่แล้ว คุณธรรมนัส กลับได้รับการเลือกตั้ง ทั้งที่ไม่ได้ทำทีมฟุตบอล คือเลิกทำไปแล้ว แถมอยู่พรรคพลังประชารัฐด้วยนะ แต่คุณธรรมนัส ยังชนะการเลือกตั้ง ทั้งที่ในความเป็นจริงการที่คุณเป็นนักการเมือง สังกัดพลังประชารัฐ มันไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะชนะเพื่อไทย ในพื้นที่ภาคเหนือ

สิ่งที่ผมจะบอกคือ การเลือกตั้งท้องถิ่นมันมีหลายปัจจัยมาก ที่จะทำให้นักการเมืองสักคนชนะการเลือกตั้ง ฟุตบอลอาจจะมีผลต่อการสร้างฐานคะแนนบ้าง แต่ไม่ใช่ปัจจัยสำคัญขนาดนั้น ชนิดที่เรียกว่าจะกำหนดผลการเลือกตั้ง ยังมีเรื่องอื่นที่อาจจะสำคัญกว่า

ผมมองว่า ฟุตบอลคือหนึ่งในเครื่องมือโปรโมตตัวเองรูปแบบหนึ่งของนักการเมืองมากกว่า ส่วนจะได้ผล หรือไม่ได้ผล ก็ต้องดูเป็นกรณีไป