ธุรกิจกำจัดหนูในสหรัฐฯ คึกคัก หลังปัญหาโลกร้อนทำประชากรหนูพุ่ง


ผลกระทบอีกข้อจากปัญหาภาวะโลกร้อน คือ การเพิ่มขึ้นของประชากรหนูในสหรัฐฯ และแคนาดา ที่ปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนทำให้ผู้คนต้องหันมาสนใจสัตว์ไม่พึงประสงค์นี้มากขึ้น ขณะที่ ธุรกิจกำจัดแมลงและสัตว์ก็เริ่มคึกคักขึ้น จากจำนวนผู้เรียกใช้บริการที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน

นักวิทยาศาสตร์ชี้ว่า อากาศที่ร้อนขึ้นอาจมีผลต่อจำนวนประชากรหนูในอเมริกาเหนือ

ริตา เดวิสสัน หญิงวัย 66 ปี จากเมืองร็อกฟอร์ด รัฐอิลลินอยส์ กล่าวว่า ในช่วง 2 ถึง 3 ปีที่ผ่านมา เมื่อถึงช่วงใกล้สิ้นสุดฤดูหนาว เธอมักเห็นหนู 1 ถึง 2 ตัวในบ้านของเธอ แต่ประชากรหนูกลับเพิ่มมาเป็น 10 ถึง 15 ตัวในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทำให้กับดักหนูที่เธอใช้เอาไม่อยู่ และต้องให้ไปพึ่งบริการของบริษัทกำจัดแมลงและสัตว์เป็นครั้งแรกในรอบ 30 ปีนับตั้งแต่ที่เธอย้ายเข้ามาอยู่ในบ้านหลังนี้

นักวิจัยกล่าวว่า อุณหภูมิที่ร้อนขึ้นและฤดูหนาวที่มีความอบอุ่นมากขึ้นได้เพิ่มจำนวนประชากรของหนูเท้าขาว (white-footed mouse) ซึ่งเป็นสัตว์จำพวกหนูที่มีขนาดเล็กและมีประชากรมากที่สุดในสัตว์สายพันธุ์นี้ ที่พบเห็นได้มากในพื้นที่ตะวันออกของประเทศสหรัฐฯ รวมไปถึงประเทศแคนาดา

สถานการณ์ดังกล่าว หมายถึง ปริมาณงานที่เพิ่มขึ้นสำหรับผู้เชี่ยวชาญและผู้ให้บริการกำจัดแมลงและสัตว์ไปโดยปริยาย

ในฤดูหนาวปีที่ผ่านมา การเก็บข้อมูลเกี่ยวกับสภาพอากาศทางภาคตะวันออกและตอนกลางของสหรัฐฯ พบว่า อุณหภูมิเฉลี่ยในพื้นที่ดังกล่าวสูงกว่าที่เคยมีมามาก โดยนับตั้งแต่ปี 1970 มา ค่าเฉลี่ยอุณหภูมิในฤดูหนาวของทุกรัฐเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 1 องศาฟาเรนไฮต์หรือ 0.6 องศาเซลเซียส ขณะที่ รัฐทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือและแถบพื้นที่ ภูมิภาคเกรตเลกส์ (Great Lakes) ที่อยู่ระหว่างรอยต่อพรมแดนสหรัฐฯและแคนาดา มีอุณหภูมิเพิ่มขึ้นมากกว่า 3 องศาฟาเรนไฮต์ หรือ 1.7 องศาเซลเซียส

คริสเตียน ฟลอยด์ นักชีววิทยาด้านสัตว์ป่า จากมหาวิทยาลัย University of Rhode Island อธิบายว่า ปกติแล้วหนูเหล่านี้จะมีจำนวนลดลงในช่วงฤดูหนาว แต่จากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงส่งผลให้ฤดูหนาวมีความอบอุ่น ทำให้หนูพวกนี้มีชีวิตรอดมากขึ้น

ฟลอยด์ให้ข้อมูลเพิ่มว่า “ปกติ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็กเหล่านี้จะมีลักษณะตัวสั่นตลอดเวลา เพราะร่างกายของพวกมันสูญเสียความร้อนได้เร็วมาก” และว่า “แต่พอฤดูหนาวมีความอบอุ่นมากขึ้น พวกมันก็จะอยู่รอดมากขึ้น โดยที่ไม่ต้องหนาวสั่นอย่างที่เคย และไม่อดตายเพราะสามารถออกล่าเหยื่อได้”

ซูซาน ฮอฟฟ์แมน รองศาสตราจารย์ด้านชีววิทยา จากมหาวิทยาลัย Miami University ที่ตั้งอยู่ในเมืองอ็อกซ์ฟอร์ด รัฐโอไฮโอ ชี้ว่า หนูเท้าขาวนั้นได้อพยพผ่านพื้นที่ป่าที่ทำหน้าที่เป็นเส้นแบ่งด้านภูมิศาสตร์ของสัตว์หลายสายพันธุ์ ซึ่งก็ขยายพื้นที่ได้ "รวดเร็วอย่างน่าประหลาดใจ" ในอเมริกาเหนือ ถึงราว 125 ไมล์ในช่วง 30 ปี หรือเกินกว่าที่คาดการณ์ไว้มากถึง 15 เท่า

รองศาสตราจารย์ ฮอฟฟ์แมน ยังบอกด้วยว่า หนูเท้าขาวแพร่พันธุ์มาจากพื้นที่หุบเขาเทนเนสซีผ่านไปยังชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ และขยายไปยังควิเบกในแคนาดาแล้ว โดยมีการคาดการณ์ว่า ภายในปี 2050 ประชากรหนูจะอพยพไปทางตอนเหนือในจำนวนที่เพิ่มมากขึ้น โดยมีสาเหตุหลัก ๆ มาจากสภาพภูมิอากาศที่อุ่นขึ้น จนทำให้พื้นที่ป่าซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของพวกมันขยายตัวไปในทิศทางนั้นด้วย

การอพยพที่คาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นนี้ ยังรวมความถึงสัตว์สายพันธุ์อื่น ๆ เช่น กระแต และกระรอกบิน ด้วย

นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า การแพร่กระจายของหนูที่ว่าอาจจะรวมถึงปริมาณหนูตามบ้านที่จะเพิ่มมากขึ้น โดย ไมเคิล เบนท์ลีย์ ผู้อำนวยการฝ่ายฝึกอบรมและการศึกษาของสมาคม National Pest Management Association บอกว่า การที่มีจำนวนหนูมากขึ้น ย่อมหมายถึง การที่เหล่านักกำจัดแมลงและสัตว์จะต้องใช้เวลาเพิ่มขึ้น ในการกำจัดแหล่งอาหารของพวกมัน รวมถึงจุดเข้า-ออกตามแหล่งที่พักอาศัย เพื่อควบคุมประชากรหนู

แอลลี ดิคแมน ผู้อำนวยการบริษัท AAA Pest Control เผยว่า มีผู้ติดต่อเข้ามาเรียกใช้บริการกำจัดหนูมากขึ้นตั้งแต่ช่วงฤดูหนาวจนถึงฤดูใบไม้ผลิที่ผ่านมา ทั้งในพื้นที่ชนบท ชานเมืองและอาคารในเมืองใหญ่

ดิคแมน ให้รายละเอียดว่า “30-40% ของสายที่โทรเข้ามา เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการกำจัดหนู ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงจนน่าประหลาดใหญ่ สำหรับช่วงนี้ของปี” และว่า “พวกหนูคงจะมีการปรับตัวและขยายพันธุ์เพิ่ม จนมีจำนวนมากขึ้น”

ผู้เชี่ยวชาญยังเตือนถึงผลกระทบด้านสาธารณสุขจากสถานการณ์ที่ว่านี้ เนื่องจาก หนูเท้าขาวเป็นแหล่งของเชื้อแบคทีเรียอันก่อให้เกิดโรคไลมน์ (Lyme) ซึ่งสามารถกระจายเชื้อไปสู่เห็บและแพร่มาสู่มนุษย์ได้ โดยอาการของผู้ที่ติดเชื้อแบคทีเรียดังกล่าว จะมีอาการทั้งเป็นไข้ เหนื่อยล้า ปวดข้อ และเกิดผื่นบริเวณผิวหนัง และอาจจะส่งผลร้ายแรง ไปยังข้อต่อและระบบประสาท

ทั้งนี้ ไลมน์ ถือเป็นโรคที่เกิดจากพาหะนำโรคที่พบบ่อยที่สุดในประเทศสหรัฐฯ

ที่ผ่านมา รัฐที่พบว่า มีจำนวนหนูเพิ่มมากที่สุดได้แก่ รัฐเมน เวอร์มอนต์ และนิวแฮมป์เชียร์ ซึ่งสำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมของสหรัฐฯ ก็ระบุว่า ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

เอลเลียต สมิทธ์ วัย 53 ปี เจ้าของฟาร์มใกล้กับเมืองแรนดอล์ฟ ในรัฐเวอร์มอนต์ เปิดเผยว่า หลังลูกชายของเขาติดโรคไลมน์ ในฤดูใบไม้ร่วงปีที่ผ่านมา เขาก็เริ่มใส่ใจเกี่ยวกับจำนวนประชากรหนูและเห็บที่เพิ่มมากขึ้นภายในพื้นฟาร์ม

สมิทธ์ กล่าวว่า ตามปกติ ผู้ที่ใช้ชีวิตในชนบทมักไม่ได้สนใจเรื่องหนูเท่าใด แต่จำนวนของพวกมันที่เพิ่มมากขึ้น เริ่มกลายมาเป็นความรำคาญกวนใจ และตอนนี้ก็กลายเป็นปัญหาไปแล้ว



ที่มา: VOA, 12/7/2022 
ภาพประกอบ: Wikimedia Commons