101 คุยกับ 'ณัฐกร วิทิตานนท์' จับตาเลือกตั้งท้องถิ่นไทย 2563
เมื่อวันที่ 9 พ.ย. 2563 รายการ 101 One-On-One คุยกับ ดร.ณัฐกร วิทิตานนท์ ภาควิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง 'THE GLOCAL - ท้องถิ่นเคลื่อนโลก' ว่าด้วยการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัดในเดือน ธ.ค. 2563 นับเป็นการเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งแรกในรอบ 6 ปีนับตั้งแต่มีรัฐประหารในเดือน พ.ค. 2557 และเป็นการเลือกตั้งท่ามกลางความแหลมคมของการเมืองระดับชาติ
หลังถูกแช่แข็งมานาน อะไรคือโจทย์ใหญ่ของการเลือกตั้งท้องถิ่นไทย การเมืองภาพใหญ่ส่งผลต่อท้องถิ่นอย่างไร ท้องถิ่นมีนัยสำคัญต่อการเมืองภาพระดับชาติแค่ไหน และอนาคตของการกระจายอำนาจจะเป็นอย่างไร
จุดที่น่าติดตามคือ การเลือกตั้ง อบจ. ครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากที่ คสช. ยึดอำนาจในปี 2557 แล้วไม่มีการเลือกตั้งลากมาเป็นเวลายาวนาน ใครเป็นอยู่ก็ให้เป็นไปอย่างนั้น ในอดีตทุกครั้งที่มีการเลือกตั้งท้องถิ่น จะมี 30% ของคนหน้าใหม่เข้ามาแทนคนหน้าเดิมเสมอ แต่พอทิ้งช่วงมายาวแล้ว หลายคนที่เคยลงรับสมัครเลือกตั้งก็เลือกที่จะไม่ลงในคราวนี้ จึงทำให้การเมืองแต่ละพื้นที่มีสีสันอย่างยิ่งในรอบนี้
ระบบเลือกตั้ง อบจ. เราจะได้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ใบแรกเลือกนายก อบจ. อย่างเชียงใหม่มีผู้สมัคร 6 ท่าน ก็จะมี 6 เบอร์ แล้วให้เลือกมาหนึ่งเบอร์ ส่วนอีกใบหนึ่งจะเป็นผู้สมัครสมาชิกสภา อบจ. (ส.อบจ.) ซึ่งแต่ละเขตไม่เท่ากัน บางเขตเป็นสิบๆ คนเลย บางเขตก็มี 2-3 คน บางเขตมีคนเดียว
รูปแบบการเลือกตั้ง อบจ. ต่างกับเลือกตั้งระดับชาติ คือไม่มีเลือกตั้งล่วงหน้า แต่มีเรื่องการเสียสิทธิเหมือนกัน ซึ่งไม่ใช่สิทธิที่มากเท่าระดับชาติ กระทบเฉพาะสิทธิของการเมืองท้องถิ่น เช่น เข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติ เข้าชื่อถอดถอน หรือสิทธิในการสมัครลงเลือกตั้ง ก็คล้ายๆ กันอยู่ แต่ในรายละเอียดมีข้อต่างกัน
ตั้งแต่รัฐประหาร 2549 เป็นต้นมา การเมืองท้องถิ่นเป็นทิศทางเดียวกันกับการเมืองระดับชาติมาตลอด คะแนนเทไปทางเดียวกันทั้งหมด สมมติว่าคนชอบเพื่อไทย ก็เลือกเพื่อไทยทั้งจังหวัด ซึ่งผมคิดว่าเป็นการทำลายการเมืองท้องถิ่น ผมเสียดาย เราควรจะแข่งกันที่นโยบาย
เราเลือกตัวบุคคลได้ โดยไม่ต้องคิดมากว่าเขาอยู่พรรคไหน ถ้าคนนั้นมีไอเดียดีๆ ที่จะทำเพื่อพัฒนาจังหวัด แล้วเขามีความกล้า อาสามาทำ เราก็ควรจะเลือกเขา โดยไม่จำเป็นว่าเขาจะอยู่ฝ่ายค้านหรือรัฐบาล แต่พอหลังปี 2549 เป็นต้นมา ประเด็นพวกนี้ถูกลดทอนลงไป
ถ้าเป็นทางเหนือเขาใช้คำว่า ‘แข่งกันแดง’ หมายความว่า ใครแดงเข้มกว่ากัน ทุกคนเพื่อไทยหมด แต่ใครจะแสดงให้ประชาขนเห็นว่าฉันเพื่อไทยแท้ ฉันเพื่อไทยที่ใกล้ชิดกับพรรค พรรคส่งฉันมา พอเกิดปรากฏการณ์ตรงนี้ คนก็ไปเลือกอุดมการณ์ที่คนนั้นเขาสังกัด เลือกสีเสือที่คนนั้นเขาสวม มากกว่าดูว่าคนนั้นเขาจะทำอะไรเพื่อท้องถิ่น
หลายคนอยู่มา 7-8 ปี ด้วยความที่เขาใส่เสื้อสีถูกใจชาวบ้าน ชาวบ้านก็เลือก แต่ 8 ปีนั้นเขาไม่ได้ทำอะไรที่จับต้องได้ ขณะที่อีกคนอยู่ฝ่ายตรงข้าม พูดง่ายๆ ว่าอยู่ฝั่งรัฐบาลปัจจุบัน เขาเคยเป็นนายก อบจ. มาก่อน แล้วเขาพัฒนาจังหวัด มีโครงการดีๆ มากมาย เขาไม่ได้สังกัดฝั่งที่อุดมการณ์เดียวกันกับที่ประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่ชอบ แต่เขามีผลงานและคนสัมผัสได้ ผมคิดว่าเราแยกได้ระหว่างการเมืองท้องถิ่นกับการเมืองระดับชาติ แต่พอเรามีวิกฤตการเมืองระดับชาติ ทุกอย่างโดนดึงเข้าไปเป็นเรื่องเดียวกัน
ในช่วงปี 2543-2553 มีข่าวเรื่องความรุนแรงในการเลือกตั้งท้องถิ่นเต็มหน้าหนังสือพิมพ์ แต่พอมาดูสถิติจริงๆ ถ้าเทียบกับจำนวนนักการเมืองท้องถิ่นที่มีเป็นแสนคน ในรอบสิบปีมีคนเสียชีวิตรวมกันเป็นหลักร้อย ซึ่งไม่ถึง 1% ของจำนวนนักการเมืองท้องถิ่นทั้งหมด แต่เราเห็นข่าวเลยถูกตอกย้ำ หรือเป็นข่าวของคนสำคัญ เช่น นายก อบจ. โดนยิง เป็นต้น
ถ้าเราดูช่วงเวลา มันเกิดขึ้นในช่วงแรกๆ เท่านั้น คือช่วงกระจายอำนาจใหม่ๆ หลังปี 2540 ที่เงินกำลังลงไป การแข่งขันกำลังดุเดือด ความรุนแรงสูงในช่วงแรก แต่พอให้ประชาธิปไตยทำงาน มีการเลือกตั้ง มีกลไก มีการฟ้องศาลปกครอง สู้กันในระบบ ใช้สภา อบจ. มาสู้กัน ก็ทำให้ความขัดแย้งที่กลายเป็นความรุนแรงค่อยๆ ลดน้อยลงไป เมื่อเราเอาสถิติมาดูก็จะพบว่าไม่ได้รุนแรงอย่างที่คนรู้สึก
คนที่จะเป็นนายก อบจ. ต้องแข่งกันมีไอเดียสร้างสรรค์ ยกตัวอย่างหลายจังหวัดที่น่าสนใจ เช่น อบจ.ภูเก็ตทำโรงพยาบาลของตัวเอง ไปซื้อโรงพยาบาลเอกชนที่เจ๊งมาทำต่อ แน่นอนว่าไม่ได้กำไรอยู่แล้ว แต่นี่คือตัวอย่างว่า อบจ. ทำอะไรได้มากกว่าที่คิด
หรือยกตัวอย่างเชียงราย ถ้าเราดูฟุตบอลแล้วชื่นชอบนักเตะอย่างเอกนิษฐ์ ปัญญา หรือบุ๊ค เขาคือผลผลิตของโรงเรียน อบจ.เชียงรายที่ทำเป็นโรงเรียนกีฬา ซึ่งไม่ได้มีแค่บุ๊ค แต่มีนักเตะดังๆ ของเชียงรายยูไนเต็ดที่เป็นผลผลิตของโรงเรียนกีฬา อบจ.
เรื่องขนส่งมวลชนที่หลายคนชอบพูดกัน ผมก็ไม่เคยคิดว่า อบจ. จะทำรถเมล์ แต่พอไปไล่ค้นมาก็พบว่าทั้งประเทศมีสองแห่งที่ทำรถเมล์อยู่ คือ อบจ.ตรัง กับ อบจ.ภูเก็ต แต่ของภูเก็ตทำแบบรถเมล์โบราณ ไม่ใช่รถเมล์แอร์แบบกรุงเทพฯ อันนี้คือบริการสาธารณะใกล้ตัวที่หลายคนอาจเคยได้ใช้บริการจาก อบจ. แต่ผมไม่แน่ใจว่ากรณีศึกษาที่ดีๆ แบบนี้จะเกิดขึ้นทั่วไปหรือไม่
รัฐราชการรวมศูนย์ที่สร้างมาตั้งแต่สมัย ร.5 จนเข้มแข็งอย่างยิ่งในปัจจุบัน ถึงเวลาแล้วที่จะต้องคืนอำนาจให้ท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของชุมชนหรือแง่ของสถาบันศาสนา เช่น วัด ก็ต้องคืนกลับไป หลายเรื่องฝืนกระแสตรงนี้ไม่ได้ เพราะปัญหาคือตัวส่วนกลางเองนั้นไกล และไม่สามารถจะเข้าใจสิ่งที่แตกต่างกันได้
ผมยกตัวอย่างง่ายๆ ที่เจอแล้วประทับใจมาก ครั้งหนึ่งมีนโยบายจากกรุงเทพฯ โดยกรมตำรวจตอนนั้น ผบ.ตร. คิดนโยบายเกี่ยวกับการขับรถ โดยใช้คำว่า ‘ห้าม’ นำหน้า เช่น ห้ามเสียบ ห้ามปาด ห้ามฝ่า ฯลฯ ปรากฏว่าใช้ป้ายเดียวกันที่ติดตั้งที่กรุงเทพฯ มาติดตั้งที่อำเภอหนึ่งในเชียงราย แต่อำเภอนี้ไม่มีไฟแดง ซึ่งข้อความ เนื้อหาที่รณรงค์ รวมถึงรูปที่เอามาใช้เป็นรูปรถกำลังฝ่าไฟแดง ทำให้เห็นว่าพอส่วนกลางทำให้ทุกที่เหมือนกันทั่วประเทศก็ไม่ตอบโจทย์ เพราะแต่ละพื้นที่มีบริบทและความต้องการที่ไม่เหมือนกัน อันนี้คือหัวใจว่าทำไมเราต้องกระจายอำนาจ
ตั้งแต่ปี 2540 การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นเหมือนรถที่วิ่งเร็วมาก ก่อนหน้านี้ต้องยอมรับว่าถ้าเรามีเงิน 100 บาท จะมีเงินให้ท้องถิ่น 7 บาทเท่านั้น อีก 93 บาทอยู่ที่ส่วนกลาง แต่ตั้งแต่ปี 2540-2549 งบประมาณพุ่งขึ้นไปจาก 7 บาท เป็น 27 บาท อำนาจหน้าที่ของท้องถิ่นก็มีมากขึ้นเป็นเงาตามตัว คนก็มีเพิ่มขึ้น ท้องถิ่นทำอะไรให้ได้เยอะมาก นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น
แต่พอเกิดรัฐประหาร 2549 กฎหมายแรกที่ สนช. ชุดคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติแก้ คือไปยับยั้งการเร่งรัดการถ่ายโอนงบประมาณที่ให้เพิ่มจาก 27 เป็น 35 ให้ได้ภายในปี 2549 ซึ่งในสมัยรัฐบาลทักษิณทำไม่ทัน
ตอนนั้นรัฐบาลทักษิณเจอด่าเยอะมาก มีทางเดียวที่จะทำให้ทันคือต้องเอาสถานีอนามัยทั้งประเทศและโรงเรียนขนาดเล็กยกให้ท้องถิ่นเลย ถ้าทำทั้งสองอย่างนี้ได้จึงจะทำให้งบท้องถิ่นถึง 35% ได้ในปี 2549 แต่พอรัฐบาลรัฐประหารเข้ามา รู้เลยว่าทำไม่ได้แน่เลยแก้กฎหมายนี้เป็นอันดับแรก โดยบอกว่า 35% ยังเป็นเป้าหมายที่ต้องไปให้ถึง แต่ไม่บังคับเงื่อนเวลา จะไปถึงในอีก 10-20 ปีข้างหน้าก็ได้ จนถึงทุกวันนี้ยังไม่ถึงเลย ได้แค่ 30% ต้นๆ นี่คือเบรกแรกที่เป็นผลจากรัฐประหาร หลังจากนั้นท้องถิ่นก็โตแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่อัตราเร่งของรถที่วิ่งมาอย่างรวดเร็วถูกแตะเบรกแล้ว
ที่น่าเสียใจคือเกิดรัฐประหารอีกรอบในปี 2557 ครั้งนี้เบรกเอี๊ยดเลย มีความพยายามที่จะแย่งพวงมาลัยยูเทิร์นรถกลับไปสมัยจอมพลสฤษดิ์ มีความพยายามที่จะเอาสมาชิกจากการแต่งตั้งเข้าไปแทนในตอนแรก ถ้าสมาชิกสภาเทศบาล (สท.) หรือ สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล (ส.อบต.) ที่ไหนครบวาระ ก็ให้เอาออกไปให้หมด แล้วใช้ระบบสรรหา เอาข้าราชการระดับซี 8 มานั่งเป็นสภาแต่งตั้งแทน
คสช. ทำข้อนี้ได้ไม่ถึงครึ่งปีก็เกิดกระแสต่อต้าน สุดท้ายต้องเลิก คสช. ใช้มาตรา 44 ครั้งแรกก็มาแก้เรื่องนี้ เชิญคนเดิมกลับมารับตำแหน่ง แล้วเอาข้าราชการที่แต่งตั้งให้กลับไปอยู่ที่ทางของตัวเอง คนที่เป็นนายก อบจ. ก็เป็นต่อไปจนถึงทุกวันนี้ หรือการพยายามเปลี่ยนท่อเงิน จากเอางบลงผ่านส่วนท้องถิ่น ก็ไปลงผ่านระบบราชการแทน เป็นต้น นี่คือการแตะเบรกอย่างแรง
โดยรวมสิ่งที่เกิดขึ้นในการแตะเบรกเอี๊ยดครั้งนี้คือ มีความพยายามลดทอนอำนาจส่วนท้องถิ่น รวมศูนย์อำนาจให้เข้มข้นขึ้น