ชาวอเมริกันเลือกตั้งอย่างไร เมื่อไม่ชอบตัวเลือกที่มี?
รายงานพิเศษจาก VOA เมื่อช่วงปลายเดือน ต.ค. 2020 ระบุว่าแม้ในการเลือกตั้งผู้นำสหรัฐฯ คนใหม่ ที่จะเกิดขึ้นในไม่กี่วันข้างหน้านี้ จะชัดเจนว่า เป็นการท้าชิงระหว่างประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ จากพรรครีพับลิกัน และอดีตรองประธานาธิบดี โจ ไบเดน จากพรรคเดโมแครต
แต่ความเป็นจริงก็คือ ชาวอเมริกันผู้มีสิทธิ์ออกเสียงนั้นอาจไม่ได้ชอบทั้งคู่เลย แต่มีความต้องการจะใช้สิทธิ์ของตนตามรัฐธรรมนูญ และกฎหมายการเลือกตั้งของสหรัฐฯ จึงกลายมาเป็นพื้นที่แสดงออกจุดยืนดังกล่าวในแบบที่เป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่ง
โดยทั่วไปแล้ว บัตรลงคะแนนเลือกตั้งในสหรัฐฯ จะมีพื้นที่ให้ผู้ใช้สิทธิ์เขียนชื่อคนที่ตนต้องการเลือก หากชื่อดังกล่าวไม่ได้ปรากฎในบัตรอยู่แล้ว แต่การเขียนชื่อเองนี้มีเงื่อนไขที่แตกต่างกันไปในแต่ละรัฐ
อย่างไรก็ตาม ในการเลือกตั้งหลายระดับ รวมทั้งการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ครั้งก่อนๆ ชาวอเมริกันที่ไม่พึงพอใจตัวเลือกที่มี ตัดสินใจเขียนชื่อตามใจตนลงไปเอง ซึ่งแน่นอนว่าหากไม่ตรงตามเงื่อนไขและกฎหมายในรัฐของตน บัตรนั้นจะกลายเป็นบัตรเสียไปโดยปริยาย
แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ ชื่อที่ผู้ใช้สิทธิ์มักเขียนลงไปนั้น ไม่ได้มีแต่ชื่อของผู้ที่มีตัวตนและหรือบุคคลในแวดวงการเมืองเท่านั้น แต่กลับมีชื่อบุคคลในประวัติศาสตร์ บุคคลผู้มีชื่อเสียง ตัวละครในนิยายหรือเรื่องเล่า ตัวการ์ตูน รวมทั้ง อาหาร และสิ่งของด้วย
ยกตัวอย่างเช่น ในรายงานของเว็บไซต์ Timesreporter.com ของหนังสือพิมพ์ที่ตั้งอยู่ที่เมือง นิว ฟิลาเดลเฟีย รัฐโอไฮโอ ซึ่งตีพิมพ์ก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีปี ค.ศ. 2016 ว่า ในการเลือกตั้งเมื่อ 4 ปีก่อนหน้า มีผู้ลงคะแนนเสียงให้ มิคกี้ เมาส์ และพระเยซู ด้วย
หรือ ในกรณีที่ เว็บไซต์ Atlanta Journal-Constitution รายงานว่า ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อ 4 ปีก่อน ในฟุลตัน เคาน์ตี้ รัฐจอร์เจีย นอกจากจะมีชื่อของ ปธน.ทรัมป์ และ นางฮิลลารี คลินตัน ให้ได้กาในบัตรเลือกตั้งแล้ว ยังมีชื่อผู้สมัครอิสระที่ประชาชนเขียนเติมลงไปอีก 17 ชื่อ และอีก 85 ชื่อที่หลายคนคาดไม่ถึง อาทิ “แบทแมน” “บาร์ท ซิมป์สัน” “ตัวตลก โบโซ่” “บักส์ บันนี่” และ “ดาร์ท เวเดอร์” เป็นต้น
ส่วน เว็บไซต์ Foster's Daily Democrat ที่เป็นหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นในรัฐนิวแฮมเชียร์ และ Guardian U.S. ซึ่งเป็นสาขาออนไลน์ของหนังสือพิมพ์ The Guardian จากอังกฤษ ต่างรายงานว่า ในการเลือกตั้งวุฒิสมาชิกรัฐแอละบามา เมื่อปี ค.ศ. 2017 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งที่มีการแข่งขันสูงมาก กลับมีบัตรเลือกตั้งที่ผู้ใช้สิทธิ์เพิ่มชื่อลงไปอีกกว่า 22,000 บัตร โดยชื่อที่มีคนเขียนมากก็คือ มิคกี้เมาส์ และ พระเยซู
International Business Times ระบุในรายงานข่าวที่ตีพิมพ์มาเมื่อหลายปีก่อนว่า ชื่อ มิคกี้ เมาส์ ปรากฏอยู่ในการเลือกตั้งในสหรัฐฯ ตั้งแต่เมื่อปี ค.ศ. 1932 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีของรัฐนิวยอร์ก ก่อนที่จะมีผู้เขียนชื่อนี้ลงในบัตรเลือกตั้งในการเลือกตั้งระดับอื่นๆ ในเวลาต่อมา โดยอีกชื่อหนึ่งซึ่งมักปรากฏในบัตรเลือกตั้งในสหรัฐฯ ก็คือ ซานตา คลอส
The Washington Post รายงานไว้ว่า การเขียนชื่ออื่นๆ ที่ใช้จริงไม่ได้ในบัตรเลือกตั้งในสหรัฐฯ นั้น คือรูปแบบหนึ่งของการประท้วง ซึ่งไม่เคยกระทบผลการเลือกประธานาธิบดีมาก่อนเลย ทั้งยังเคยเปิดทางสู่ความสำเร็จให้กับอดีตผู้นำบางคนมาแล้ว เช่น แฟรงคลิน โรสเวลท์ ดไวท์ ไอเซนฮาวเวอร์ ริชาร์ด นิกสัน และ จอห์น เอฟ เคนเนดี้ ที่ชนะการเลือกตั้งขั้นต้น หรือ Primary มาได้จากการเขียนชื่อเติมลงไป
แต่แม้การเติมชื่อเองนี้ไม่ผิดกฎหมายและยังถือว่าเป็นภาพสะท้อนของการใช้สิทธิ์แห่งเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ รูปแบบหนึ่ง ผู้ที่เดือดร้อนจากเรื่องนี้ยังคงเป็นเจ้าหน้าที่ซึ่งเกี่ยวข้องกับการตรวจสอบและนับบัตรคะแนนเลือกตั้งที่บอกว่าไว้ว่า ไม่ใช่เรื่องสนุกเลยที่ต้องเร่งสรุปตัวเลข และยังต้องเสียเวลาเพิ่มเติมแยกชื่อแปลกๆ ทั้งหลายออกมา เพื่อให้กระบวนการเสร็จสมบูรณ์และนำไปสู่บทสรุปของการเลือกตั้งให้ได้
____