#SmartLocal 'Taobao village' แนวทาง 'กระจายรายได้-ความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจ' ในจีน


'Taobao village' เป็นชื่อเรียกหมู่บ้านในประเทศจีนที่ผันตัวเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัล โดยทำการค้าผ่าน e-commerce อย่างเป็นระบบ โดยโครงการนี้เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างภาคประชาชน ภาคเอกชน และภาครัฐ ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ประโยชน์จาก e-commerce ในการสร้าง inclusive growth ลดความเหลื่อมล้ำระหว่างสังคมเมืองกับสังคมชนบท และแก้ปัญหาความยากจน ในชนบทห่างไกลที่เต็มไปด้วยคนยากจนและคนแก่ ซึ่งคนหนุ่มสาวออกไปหางานทำต่างถิ่น โดยภาครัฐทำหน้าที่สร้างโครงการพื้นฐานที่จำเป็นต่อการค้าออนไลน์ อาทิ การจัดสรรพื้นที่เขตอุตสาหกรรมพิเศษเพื่อให้เอกชนเช่าเป็นโรงงานขนาดย่อมอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง และเครือข่ายโทรศัพท์มือถือที่ครอบคลุม ขณะที่ภาคเอกชนโดยอาลีบาบาสร้างระบบเว็บไซด์เพื่อวางขายสินค้า ให้สินเชื่อเพื่อการลงทุนวางเครือข่ายการขนส่งสินค้าให้เข้าถึงพื้นที่ในชนบทตั้งศูนย์รับสินค้าและกระจายไปยังทั่วประเทศจีน ตลอดจนการให้ความรู้เกี่ยวกับการขายสินค้าออนไลน์

อย่างไรก็ดี ไม่ใช่ว่าทุกพื้นที่ของชนบทห่างไกลในจีนจะกลายเป็นหมู่บ้าน Taobao ได้แต่หมู่บ้าน Taobao จะต้องมีคุณสมบัติคือ (1) ตั้งอยู่ในหมู่บ้านชนบท (2) เป็นพื้นที่ที่ผู้คนเริ่มต้นธุรกิจผ่านระบบ e-commerce โดยใช้แพลตฟอร์ม Taobao (3) มีมูลค่าการซื้อขายผ่านออนไลน์ไม่ต่ำกว่า 10 ล้านหยวนต่อปีและ (4) ประชาชนในหมู่บ้านอย่างน้อยร้อยละ 10 มีส่วนร่วมใน e-commerce หรือมีร้านค้าออนไลน์ที่เปิดโดยคนในหมู่บ้านอย่างน้อย 100 แห่ง ซึ่งปัจจุบันมีหมู่บ้าน Taobao ตั้งอยู่กว่า 3,200 แห่งทั่วประเทศจีน

หมู่บ้าน Taobao เปรียบเสมือนฐานการผลิตสินค้าเพื่อป้อนตลาดที่ใหญ่ทั้งประเทศจีนและต่างประเทศผ่าน e-commerce โดยในหมู่บ้านจะเต็มไปด้วยโรงงานขนาดเล็กมากมาย และมีร้านค้าที่เป็นศูนย์กลางทำหน้าที่รับสั่งซื้อสินค้าจากเมืองหลวงให้กับลูกค้าที่ยังไม่คุ้นเคยกับการใช้เทคโนโลยีซื้อสินค้าขณะเดียวกัน ร้านค้าเหล่านี้ก็เป็นที่รับขนส่งสินค้าท้องถิ่น อาทิ สินค้าเกษตร สินค้าหัตถกรรม สินค้าอุตสาหกรรมที่ผลิตได้ในท้องถิ่นเพื่อขายให้กับคนจีนในพื้นที่อื่นๆ อีกด้วย โครงการนี้ประสบความสำเร็จอย่างมาก สามารถสร้างการจ้างงานทั้งทางตรงและทางอ้อมและยกระดับรายได้ให้กับคนชนบท รวมทั้งดึงแรงงานหนุ่มสาวที่ไปทำงานโรงงานในเมือง กลับมาทำงานในชนบท นับว่าเป็นแนวทางในการลดความเหลื่อมล้ำกระจายความเจริญสู่ชนบท และลดความแออัดในชุมชนเมืองได้เป็นอย่างดี

อย่างไรก็ดี บทเรียนสำคัญอีกอย่างที่เราเห็นจากหมู่บ้าน Taobao คือ สินค้าส่วนใหญ่ที่ผลิตจากหมู่บ้านนี้ใกล้เคียงกันและลอกเลียนแบบกันสูง เนื่องจากผลิตโดยใช้หลักการ Demand-driven คือ ผลิตสินค้าที่มีความต้องการจากตลาด ทำให้ผู้ประกอบการแต่ละรายต่างผลิตสินค้าที่เหมือนกัน แข่งขันกันเอง สุดท้ายส่งผลต่อกำไรที่ลดลง


ที่มา: รายงานผลกระทบจากธุรกิจ e-commerce ต่อผู้ประกอบการท้องถิ่น (โดย อรดา รัชตานนท์, กชพรรณ สัลเลขนันท์, โชติพัฒน์ กลิ่นสุคนธ์, จิรวัฒน์ ภู่งาม และ มณฑล ศิริธนะ, ธนาคารแห่งประเทศไทย)