เมื่อ 'ท้องถิ่น' หวังจัดซื้อ 'วัคซีน COVID-19' เอง

นายกเทศมนตรีหลายท้องถิ่นเริ่มออกมาให้ข่าว หวังจัดซื้อ 'วัคซีน COVID-19' เอง The Glocal วิเคราะห์ อาจจะเป็นการหวังผลด้านคะแนนเสียงในการเลือกตั้งท้องถิ่นระดับเทศบาล-อบต. ที่อาจจะมีในเร็ว ๆ นี้ ส่วนความเป็นไปได้ในการให้ท้องถิ่นจัดซื้อวัคซีน COVID-19 เองนั้น "มีความเป็นไปได้ยาก"

เมื่อต้นเดือน ม.ค. 2564 มีการเผยแพร่ข่าวในสื่อออนไลน์หลายสำนัก เมื่อ 'สมนึก ธนเดชากุล' นายกเทศมนตรีนครนนทบุรี มีแนวคิดสนับสนุนรัฐบาล ในการจัดซื้อวัคซีนป้องกัน COVID-19 มาฉีดให้กับประชาชน

สมนึก ระบุว่าเทศบาลนครนนทบุรี มีความพร้อมมีศักยภาพในการที่จะช่วยฉีดวัคซีนให้กับประชาชนในเขตเทศบาล ซึ่งมีประชาชนกรอยู่ 260,000 คน จะใช้วัคซีนประมาณ 520,000 โดส หากโดสละ 500 บาท ก็จะใช้เงินประมาณกว่า 260 ล้านบาท

ซึ่งแนวคิดดังกล่าวนี้ มาจากข้อเสนอของ 'คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์' อดีตประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย ได้เสนอแนะรัฐบาลให้ท้องถิ่นสามารถใช้งบประมาณมาฉีดวัคซีนให้กับประชาชนของตนเองได้

คุณหญิงสุดารัตน์ ได้โพสต์เรื่องประชาชนต้องได้รับวัคซีนโควิดถ้วนหน้า เมื่อวันที่ 7 ม.ค.2564 โดยเสนอว่า “รัฐบาลจึงควรให้โอกาสองค์กรปกครองท้องถิ่นที่แข็งแรงพอ มีโอกาสดูแลประชาชนในพื้นที่ของตน  ขณะนี้มีเงินสะสมของท้องถิ่นอยู่หลายแสนล้าน” (อ่านเพิ่มเติมใน คมชัดลึก)

ต่อมา นายพิริยะ ศรีสุขสมวงศ์ นายกเทศมนตรี ทต.คลองท่อมใต้ จังหวัดกระบี่ได้โพสต์เฟสบุ๊คส่วนตัวระบุว่า "เทศบาลคลองท่อมใต้พร้อมที่จะจัดซื้อวัคซีนป้องกันโรคโควิด19 มาฉีดให้กับพี่น้องประชาชนในเขตเทศบาลทุกคน เมื่อคณะกรรมการอาหารและยาได้ให้การรับรองวัคซีนป้องกันโรคโควิด19 และรัฐบาลอนุมัติให้เทศบาลสามารถดำเนินการได้ เตรียมงบไว้ 4 ล้านบาทแล้ว ฟรีครับ ชัดเจนนะ #อู๊ดเป็นห่วง" (อ่านเพิ่มเติมใน Facebook) 

ล่าสุดเมื่อวันที่ 11 ม.ค. 2564 นางจินดา ถนอมรอด นายกเทศมนตรีนครแหลมฉบัง จ.ชลบุรี ได้เปิดเผยถึงแนวคิด ในการแบ่งเบาภาระของรัฐบาลในการจัดการกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ระลอกใหม่ ให้ประชาชนได้รับวัคซีนอย่างทั่วถึง และมีสะดวกปลอดภัยในการกระจายวัคซีนป้องกันไวรัส COVID-19 ในครั้งนี้ได้ด้วย ซึ่งรัฐบาลได้เตรียมจัดซื้อวัคซีนไว้จำนวน 70 ล้านโดส ถ้าฉีดคนละ 2 โดส ก็จะสามารถฉีดให้กับประชาชนได้เพียง 35 ล้านคน เป็นจำนวนประชาชนเพียงครึ่งหนึ่งของประเทศ ซึ่งก็อาจจะไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชนในประเทศไทยที่มีถึงกว่า 70 ล้านคน

นางจินดา กล่าวว่า จังหวัดชลบุรีที่เป็นพื้นที่สีแดง ทางรัฐบาลได้มีแนวทางจัดซื้อวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ได้เป็นบางส่วน แต่ในความเป็นจริงแล้วประชาชนทุกคนต้องได้รับวัคซีนอย่างทั่วถึงกัน แต่ถ้าทางรัฐบาลได้มีการอนุมัติวัคซีนมาให้ท้องถิ่นได้มีการจัดซื้อวัคซีนได้เอง ทางเทศบาลนครแหลมฉบังก็มีความพร้อมที่จะสามารถจัดซื้อวัคซีนป้องกันมาให้กับประชาชนในพื้นที่ที่มีจำนวนประชากรประมาณ 80,000 คน ถ้าคิดเป็นจำนวนเงินต่อประชาชน 1 คนที่ต้องใช้คนละ 2 โดส โดสละ 500 บาท  ใช้งบประมาณเป็นจำนวนเงิน 80,000,000 บาท (แปดสิบล้านบาท) แจกจ่ายให้กับประชาชนตามทะเบียนบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่

ทั้งนี้ในท้องถิ่นก็มีความพร้อมในทุกๆ ท้องถิ่น ในการที่จะช่วยเหลือประชาชน ซึ่งมองดูแล้วถ้าประชาชนได้รับวัคซีนทุกคนก็จะสร้างความปลอดภัยและความมั่นใจในการดำเนินชีวิตให้กับประชาชนได้ ซึ่งตรงนี้ก็ถือว่าเป็นความหวังของพี่น้องประชาชน ซึ่งถ้ารัฐบาลประกาศให้ทางท้องถิ่นทุกท้องถิ่นสามารถดำเนินการในเรื่องนี้ได้ ทางเทศบาลนครแหลมฉบังก็พร้อมจะดำเนินการให้กับพี่น้องประชาชนได้ในเวลาเดียวกันทั้ง 80,000 คน

“ในด้านการเตรียมความพร้อมในเรื่องนี้นั้น ทางเทศบาลนครแหลมฉบังได้เตรียมเงินสะสมไว้จำนวน 80 ล้านบาท และวิธีดำเนินการนั้นเราไม่ต้องลงทะเบียน เพราะเรามีรายชื่อของประชากรอยู่ในมืออยู่แล้ว เราสามารถจัดระเบียบการฉีดวัคซีนในแต่ละวันได้เป็นอย่างดี เพื่อลดความแออัดและความเดือดร้อนให้กับประชาชนได้มากขึ้น ถ้าทางรัฐบาลให้โอกาสท้องถิ่นได้ช่วยเหลือรัฐบาลได้ในกรณีนี้ด้วย แต่วัคซีนที่จะนำมานั้นต้องได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ด้วย” นายกเทศมนตรีนครแหลมฉบังกล่าว (อ่านเพิ่มเติมใน amarintv.com)

The Glocal ตั้งข้อสังเกตว่าการออกมาเคลื่อนไหวนี้ส่วนใหญ่แล้วเป็นผู้บริหาร อปท.ที่มาจากการเลือกตั้งในระดับเทศบาล (ยังไม่มีระดับจังหวัด?) อาจจะเป็นการหวังผลด้านคะแนนเสียงในการเลือกตั้งท้องถิ่นระดับเทศบาลที่อาจจะมีในเร็ว ๆ นี้ ส่วนความเป็นไปได้ในการให้ท้องถิ่นจัดซื้อ 'วัคซีน COVID-19' เองนั้น มีความเป็นไปได้ยาก เพราะการใช้เงินสะสม ต้องอิงตามกรอบที่รัฐบาลกำหนด ถ้ารัฐบาลไม่ไฟเขียว (เหมือนถนนยางพารา) ก็เอาออกมาใช้ไม่ได้ นอกจากนี้ วัคซีน COVID-19 เป็นสินค้าที่ไม่ได้จัดซื้อได้ง่าย เพราะมีความต้องการสูง และส่วนใหญ่ประเทศต่าง ๆ ในโลก รัฐบาลกลางจะเป็นผู้จัดลำดับการแจกจ่ายและฉีดวัคซีน

สำหรับความคืบหน้าการจัดหาวัคซีน COVID-19 ของไทย (ณ ต้นเดือน ม.ค. 2564) ในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 ม.ค. 2564 คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบสรุปผลการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด - 19) (ศบค.) ครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันจันทร์ที่ 4 ม.ค. 2564 ตามที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เสนอ โดยความคืบหน้าการจัดหาวัคซีนโรคโควิด - 19 เพิ่มเติม ที่ประชุมรับทราบรายงานความคืบหน้าฯ ดังนี้

1. การจัดหาวัคซีนครอบคลุมประชากรไทยในปี 2564 จำนวน 33,000,000 คน คิดเป็นร้อยละ 50 ของประชากรทั้งประเทศ ประกอบด้วย

(1) การจัดหาวัคซีนจากการตกลงแบบทวิภาคี Bilateral Agreement (Advanced Market Commitment) กับบริษัท AstraZeneca จำกัด ร้อยละ 20 (จำนวน 26,000,000 โดส) และคาดว่าจะได้รับวัคซีนประมาณเดือน มิ.ย. 2564 (อยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อให้ได้วัคซีนมาก่อนจำนวนหนึ่งในช่วงไตรมาสแรกของปี 2564) ซึ่งที่ประชุมมีมติให้พิจารณาสั่งซื้อเพิ่มอีกจำนวน 35,000,000 โดส รวมเป็นจำนวนวัคซีนที่ประเทศไทยจัดหา จำนวน 61,000,000 โดส

(2) การจัดหาวัคซีนจากแหล่งอื่น ร้อยละ 10 กระทรวงสาธารณสุขได้เจรจากับบริษัท Sinovac Biotech จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตวัคซีนของประเทศจีนเพื่อจัดหาวัคซีนเร่งด่วนให้ได้ภายในไตรมาสแรกของปี 2564 จำนวน 2,000,000 โดส ทั้งนี้ วัคซีนต้องได้รับอนุญาตขึ้นทะเบียนจากสถาบันอาหารและยา (อย.) ประเทศจีนก่อน โดยจะฉีดคนละ 2 โดส ระยะเวลาห่างกัน 1 เดือน วงเงินงบประมาณรวม 1,228,208,000 บาท

(3) การจัดหาวัคซีนจาก COVAX Facility ร้อยละ 20 ทั้งนี้ อยู่ระหว่างการพิจารณาเงื่อนไขและเจรจาต่อรอง

2. เป้าหมายการฉีดวัคซีน 2,000,000 โดส (เดือน ก.พ.- เม.ย. 2564)

(1) วัคซีน 200,000 โดสแรก ในเดือน ก.พ. 2564 ในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ สาธารณสุขด่านหน้า (รวมอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน) และเจ้าหน้าที่ทำงานภาคสนามในพื้นที่ควบคุมสูงสุด เช่น จ.สมุทรสาคร จ.ระยอง จ.ชลบุรี เป็นต้น จำนวน 20,000 คน และในกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อที่มีภาวะแทรกซ้อนสูง และกลุ่มจำเป็นอื่น ๆ จำนวน 180,000 คน

(2) วัคซีน 800,000 โดสแรก ในเดือน มี.ค. 2564 ซึ่งจะเป็นการฉีดวัคซีนเข็มที่สอง ในกลุ่มข้อ (1) จำนวน 200,000 โดส และวัคซีน จำนวน 600,000 โดส ในกลุ่มจังหวัดควบคุมสูงสุด ชายแดนตะวันตกและภาคใต้ เป็นบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า (รวมอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน) จำนวน 60,000 คน และในกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อมีภาวะแทรกซ้อนสูงและกลุ่มจำเป็นอื่น ๆ จำนวน 540,000 คน

(3) วัคซีน 1,000,000 โดส ในเดือน เม.ย. 2564 โดยจะฉีดวัคซีนเข็มที่สองในกลุ่มตามข้อ (2) จำนวน 600,000 คน และสำหรับกรณีที่มีการระบาด จำนวน 400,000 โดส