ธุรกิจขนาดย่อมที่มีชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียเป็นเจ้าของ เผชิญปัญหาหนักที่สุดช่วง COVID-19

VOA รายงานเมื่อช่วงเดือน เม.ย. 2021 ว่าตลอดปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการทั้งหลายในสหรัฐฯ ต่างหาวิธีรับมือกับผลกระทบของวิกฤตโควิด-19 เพื่อประคองธุรกิจของตนให้รอดพ้นช่วงเวลาอันยากลำบากนี้ไปให้ได้ และผลสำรวจล่าสุดพบว่า ธุรกิจขนาดย่อมที่มีชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียเป็นเจ้าของ โดยเฉพาะธุรกิจบริการ คือ กลุ่มที่เผชิญปัญหาหนักที่สุด

สำนักข่าวรอยเตอร์ส เปิดเผยว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ สาขานิวยอร์ก และองค์กร AARP ร่วมกันทำการสำรวจผู้ประกอบการที่อยู่ในวัยสูงอายุ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนถึง 80 เปอร์เซ็นต์ของเจ้าของธุรกิจขนาดเล็กทั้งหมดในสหรัฐฯ และพบว่า ในช่วงที่ผ่านมา ธุรกิจที่เจ้าของเป็นชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียได้รับผลกระทบหนักกว่า กลุ่มที่มีเจ้าของเป็นชาวอเมริกันผิวสี และชาวอเมริกันผู้มีเชื้อสายมาจากประเทศที่ใช้ภาษาสเปนเป็นหลัก หรือ ฮิสแปนิก

ความรุนแรงของปัญหาที่ธุรกิจชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียต้องเผชิญนั้น มีตั้งแต่ คำสั่งภาครัฐให้ปิดการให้บริการชั่วคราว ไปจนถึงความจำเป็นที่จะต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงาน รวมถึง ประเด็นด้านภาษาและการที่ไม่มีสายสัมพันธ์กับธุรกิจธนาคาร อันทำให้การเข้าถึงความช่วยเหลือด้านการเงินจากภาครัฐเป็นไปได้ยาก ทั้งยังมีเรื่องของความกลัวการเกิดอาชญากรรมซึ่งเกี่ยวเนื่องกับความเกลียดชัง (hate crime) ที่พุ่งสูง อันเป็นผลมาจากคำพูดที่ว่า คนเอเชียคือต้นตอของโคโรนาไวรัส ด้วย

ผลสำรวจดังกล่าวระบุว่า ประมาณ 9 เปอร์เซ็นต์ของธุรกิจของชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียนั้นมีปัญหาขัดสนทางการเงิน ในปี ค.ศ. 2019 ซึ่งต่ำกว่าระดับ 19 เปอร์เซ็นต์ของธุรกิจที่ชาวอเมริกันผิวสีเป็นเจ้าของ และ 16 เปอร์เซ็นต์ที่ชาวอเมริกันฮิสแปนิกเป็นเจ้าของอย่างมาก

แต่สถานการณ์พลิกกลับมาดิ่งเหวทันทีหลังเกิดวิกฤตโควิด-19 เมื่อต้นปีที่แล้ว ซึ่งส่งผลให้ยอดขายของธุรกิจโดยชาวเอเชียนอเมริกันหดหายไปถึงกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ ภายในสิ้นเดือนมีนาคม ขณะที่ธุรกิจขนาดเล็กของชาวอเมริกันเชื้อสายอื่นรายงานการหดตัวของยอดขายราว 50 เปอร์เซ็นต์

และขณะที่เผชิญกับปัญหารายได้ที่ลดลงหนัก หลายคนไม่สามารถหันไปหาความช่วยเหลือทางการเงินใดๆ ซึ่งรวมถึงโครงการ Paycheck Protection Program (PPP) ที่รัฐบาลสหรัฐฯ ออกมาเพื่อช่วยธุรกิจขนาดย่อม

เจมี่ ลี จากองค์กรพัฒนาชุมชนแห่งหนึ่ง ในย่านไชน่าทาวน์ ของนครซีแอตเติล รัฐวอชิงตัน บอกกับผู้สื่อข่าวว่า เจ้าของธุรกิจหลายรายที่เธอทำงานด้วยมีความรู้ภาษาอังกฤษแค่ระดับให้บริการลูกค้าเท่านั้น แต่ไม่สามารถกรอกแบบฟอร์มอันซับซ้อนเพื่อยื่นเรื่องของเงินช่วยเหลือใดๆ ได้เลย

รายงานข่าวระบุด้วยว่า ผลสำรวจโดยนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนีย ซานตาครูซ และมหาวิทยาลัยแห่งเนวาดา พบว่า ธุรกิจที่มีชนกลุ่มน้อยเป็นเจ้าของไม่มีโอกาสรับความช่วยเหลือจากโครงการ PPP ในรอบแรกที่ออกมาเมื่อฤดูใบไม้ผลิที่แล้ว แต่หลายรายสามารถยื่นเรื่องได้เมื่อรัฐบาลปรับเปลี่ยนรายละเอียดของโครงการในรอบที่ 2

เทย์ซิ เมอร์ไซ เจ้าของธุรกิจร้านขายของชำเชื้อสายเวียดนาม ในย่าน ลิตเติลไซง่อน ของนครซีแอตเติล เปิดเผยว่า ด้วยความช่วยเหลือจากสมาชิกในชุมชน ทางร้านสามารถยื่นเรื่องของความช่วยเหลือได้ในที่สุด พร้อมๆ กับปรับเปลี่ยนระบบการทำธุรกิจให้เน้นการรรับคำสั่งซื้อผ่านระบบออนไลน์ และการนำส่งถึงมือลูกค้า ซึ่งใช้เวลาราว 6 เดือนกว่าจะพร้อม เนื่องจากมีรายละเอียดของการเก็บข้อมูลสินค้าจำนวนมาก

แต่ขณะที่สถานการณ์เริ่มทรงตัว เมอร์ไซ กล่าวว่า เมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อน พนักงานในร้านรายหนึ่งซึ่งเป็นชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชีย ถูกทำร้ายระหว่างเดินทางกลับบ้านวันหนึ่ง และแม้พนักงานรายนี้จะไม่ได้รับบาดเจ็บมาก ทั้งยังไม่มีข้อสรุปว่า เหตุที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องของอาชญากรรมที่เกิดจากความเกลียดชัง หรือไม่ พนักงานคนอื่นๆ ในร้านเริ่มรู้สึกไม่ปลอดภัยและต้องระวังตัวขึ้นอย่างมากแล้ว

ที่มาภาพประกอบ: The Washington Post/Tyler Prince