เมื่อชาวนิวยอร์กเกอร์เปลี่ยนพื้นที่เมืองเป็นแปลงผัก

 


ผู้คนในเขตบร็องซ์ของนครนิวยอร์กหันมาให้ความสนใจในกับการปลูกพืชผักสวนครัวกลางเมืองมากขึ้น และผลิตผลที่ได้จากแปลงผักเล็กๆ หลายแห่งยังเปิดโอกาสให้ผู้คนในชุมชนได้ทานอาหารที่มีประโยชน์และสร้างรายได้จากการแปรรูปอีกด้วย

พื้นที่โล่งๆ ในเขตบร็องซ์ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของเกาะแมนฮัตตันได้ถูกแปลงโฉมให้เป็นแปลงผักเล็กๆ หลายแปลงที่แลดูคล้ายกับฟาร์มหย่อมเล็กหย่อมน้อยกลางนครนิวยอร์ก และผู้คนในย่านดังกล่าวซึ่งส่วนใหญ่เป็นประชากรที่มีรายได้ต่ำยังใช้โอกาสนี้เพื่อเข้าถึงวัตถุดิบที่มีคุณภาพเพื่อเสริมภูมิต้านทานในยุคที่การระบาดของโควิดยังดำเนินต่อไป

เรย์มอนด์ ฟิเกอโรอา-เรเยส ประธานกลุ่มสวนผักชุมชนแห่งนิวยอร์ก อธิบายถึงปรากฏการณ์ดังกล่าวว่า เมื่อเกิดการระบาดของโควิด การปลูกพืชผักในเมืองก็ได้รับความสนใจมากขึ้น เนื่องจากผู้คนที่ไปขอรับอาหารบริจาคเห็นว่าอาหารเหล่านี้ ส่วนใหญ่เป็นของที่ไม่มีคุณภาพทางโภชนาการ นอกจากนี้ การไปยืนต่อแถวรอเพื่อขออาหารที่ไม่มีประโยชน์ต่อร่างกายก็เป็นอะไรที่ไม่สมศักดิ์ศรีของมนุษย์อีกด้วย

ดังนั้น สวนผักชุมชนในเขตบร็องซ์จึงกลายเป็นแหล่งผลิตพืชผักสวนครัวที่มีแร่ธาตุอาหารสูง เช่น เคล กระเทียม และ ผักคะน้าฝรั่ง (collard greens) ให้แก่ชุมชน

ขณะนี้ คนอเมริกันหลายล้านคน ไม่ว่าจะเป็นในเมืองใหญ่ๆ และในชนบท อาศัยอยู่ในชุมชนที่ไม่สามารถเข้าถึงอาหารที่ดีได้ สภาพแวดล้อมที่มีแต่ร้านอาหารขยะให้เห็นเต็มไปหมด และของสดใหม่ที่พวกเขาได้กินกันนั้นส่วนใหญ่จะเป็นอาหารที่คล้ายของหวาน ซึ่งต่างก็ส่งผลให้เกิดโรคต่างๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคอ้วน หรือ โรคความดันโลหิต ผู้นำชุมชนบางคนเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า “ความอยุติธรรมทางอาหาร”

ส่วนคุณรอน ฟินลีย์ นักปลูกผักกลางเมืองอีกคนหนึ่งก็มีแนวคิดเช่นกันว่าการปฏิวัติที่ให้อิสรภาพแก่ผู้คนในชุมชนที่มีรายได้น้อยสามารถเกิดขึ้นได้จากการปลูกพืชอาหารเอง เพราะว่าการทำสวนกลางเมืองเปิดโอกาสในการสร้างความแข็งแกร่งทางจิตใจและเสริมสร้างร่างกายด้วยอาหารที่มีประโยชน์ให้กับคนในชุมชน

นักกิจกรรมทำสวนกลางเมืองผู้นี้บอกว่า เขาอยากให้ผู้คนกลับมาหาธรรมชาติ กลับมาสัมผัสดิน และเอาพื้นที่สีเขียวที่เคยมีคืนมา เพราะเขาเชื่อว่า เมื่อเราปลูกฝังเมล็ดพันธุ์ของพืชผักและเมล็ดพันธุ์ของความคิด เรื่องดังกล่าวก็จะขยายตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งยังเป็นอะไรที่มีค่าและมีพลัง และมีความหมายมากกว่าแค่เป็นอาหารเท่านั้น

จุดประสงค์ของคุณรอน ฟินลีย์ นั้นได้รับจากจุดประกายมาตั้งแต่สมัยเขายังเด็กๆ เนื่องจากเขาโตที่เขตทางใต้ของเมืองลอสแองเจอลิสในรัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งเป็นชุมชนที่มีรายได้ต่ำและมีอาชญากรรมสูง เรยมอนด์เล่าให้ฟังว่าเขาต้องขับรถเกือบชั่วโมงกว่าจะไปซื้อมะเขือสดๆ สักลูกได้ เขาจึงมุ่งมั่นพัฒนาชุมชนโดยการทำสวนปลูกผัก ซึ่งสิ่งที่เขาได้ทำนั้น ได้แก่ การทำแปลงผักในบริเวณริมถนนหรือลานเปล่าๆ ที่ไม่มีคนให้ความสนใจ และการเปิดชั้นเรียนออนไลน์เรื่องความสำคัญในการปลูกอาหารทานเอง

ทางด้าน แคเรน วอชิงตัน สมาชิกของคณะกรรมการสวนพฤกษศาสตร์แห่งนครนิวยอร์ก ได้มีส่วนร่วมในการรณรงค์ปลูกสวนผักชุมชนมาหลายสิบปีเช่นกัน โดยเฉพาะการปลูกพริกที่ประสบความสำเร็จมาก ถึงขั้นที่คนในชุมชนนำไปแปรรูปและขายเป็นผลิตภัณฑ์ซอสพริกที่ชื่อว่า บร็องซ์ ฮอต ซอส (Bronx Hot Sauce) และกำไรของการขายซอสยี่ห้อนี้ยังกลับไปสู่ชุมชนเพื่อพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวต่อไปเรื่อยๆ

นอกจากนี้เธอยังก่อตั้งโครงการ City Farms Market ที่นำผลิตผลจากแปลงผักในย่านบร็องซ์และในบริเวณตอนบนของรัฐนิวยอร์กมาขายในราคาที่ผู้คนในพื้นที่สามารถมีกำลังซื้อได้ด้วย โดยแคเรน ย้ำว่า การเข้าถึงอาหารที่ดีมีประโยชน์นั้นเป็นสิทธิมนุษยชนอย่างหนึ่ง เหมือนกับการเข้าถึงน้ำสะอาดนั่นเอง


ที่มา: VOA, 20/8/2021 https://www.voathai.com/a/urban-gardening-gains-in-pandemic/6009590.html