ท้องถิ่นและอาหารกลางวันนักเรียน: ข้อเสนอแนะและตัวอย่างจากต่างประเทศ
จากปัญหาที่ได้นำเสนอเกี่ยวกับโครงการอาหารกลางวันในตอนแรกนั้น ปัจจุบันมีทั้งงานศึกษา หน่วยงานกำกับดูแล ตลอดจนนักวิชาการและนักการเมือง ที่ให้ความสนใจและเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างหลากหลาย เพื่อให้โครงการอาหารกลางวันบรรลุวัตถุประสงค์และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อเด็กนักเรียนในประเทศไทย
ปรับปรุง พ.ร.บ.กองทุนเพื่อโครงการอาหารกลางวัน พ.ศ. 2535
จากรายงาน 'ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายเป็นเงินอุดหนุนค่าอาหารกลางวันนักเรียน' โดยสำนักงบประมาณของรัฐสภา สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เมื่อปี 2564 มีข้อเสนอดังนี้
(1) รูปแบบและวิธีการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายเป็นเงินอุดหนุนค่าอาหารกลางวันนักเรียนเพื่อให้การบริหารจัดการเงินค่าอาหารกลางวันมีประสิทธิภาพ คุ้มค่า และเกิดประสิทธิผลต่อการบรรลุวัตถุประสงค์โครงการ ดังนั้น รูปแบบการสนับสนุนงบประมาณค่าอาหารกลางวันให้แก่ต้นทุนผันแปร (ค่าวัตถุดิบและค่าโสหุ้ย) ควรจัดสรรผ่านหน่วยรับงบประมาณเหมือนเดิม สำหรับต้นทุนคงที่ (ค่าจ้างผู้ประกอบอาหาร) มีข้อเสนอทางเลือก ได้แก่ รูปแบบที่ 1 เป็นหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) โดยจัดตั้งคณะกรรมการระดับท้องถิ่นมากำกับดูแล ข้อดี คือ ลดภาระงบประมาณรัฐบาล เอื้อต่อการบูรณาการ ความโปร่งใส และเพิ่มบทบาทการมีส่วนร่วมของ อปท. ข้อเสีย คือ เพิ่มภาระงบประมาณ อปท. โดยเฉพาะ อปท. ที่มีข้อจำกัดด้านฐานะทางการคลัง และ รูปแบบที่ 2 รัฐบาลยังเป็นผู้รับผิดชอบจัดสรรงบประมาณสาหรับต้นทุนคงที่เหมือนเดิม (เป็นส่วนหนึ่งของค่าบริหารจัดการต่อหัวนักเรียนและตามขนาดโรงเรียน) ข้อดี คือ ไม่เป็นภาระงบประมาณ อปท. ข้อเสีย คือ จากข้อจำกัดด้านวงเงินของรัฐบาลซึ่งอาจทำให้ไม่สามารถจัดสรรงบประมาณตามต้นทุนคงที่ที่เกิดขึ้นจริงได้
(2) การป้องกันและแก้ไขปัญหาของกองทุนเพื่ออาหารกลางวันในโรงเรียนต่อการสนับสนุนโครงการอาหารกลางวันนักเรียน จากผลการศึกษาแนวทางการบริหารจัดการกองทุนเพื่ออาหารกลางวันซึ่งพบปัญหาการบริหารจัดการกองทุน คือ การจัดสรรงบประมาณมีความล่าช้าและมีข้อเสนอแนะให้มีการจัดสรรงบประมาณให้โรงเรียนโดยตรง รวมทั้งจากที่กองทุนจัดสรรเงินดอกผลแก่โรงเรียนได้ค่อนข้างน้อยหรือร้อยละ 12.66 ของความต้องการ ดังนั้น สมควรพิจารณาปรับปรุง พ.ร.บ.กองทุนเพื่อโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนประถมศึกษา พ.ศ. 2535 เพื่อให้สอดคล้องตามบริบทปัจจุบันและเพื่อให้สามารถบริหารเงินทุนหมุนเวียนอย่างคล่องตัว คุ้มค่า มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และสนับสนุนเงินเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่กองทุนอาหารกลางวันโรงเรียนให้เกิดความยั่งยืนด้วยการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้เพื่อให้กองทุนมีบทบาทสนับสนุนโครงการอาหารกลางวันให้บรรลุวัตถุประสงค์เป็นรูปธรรมอย่างมีคุณภาพต่อไป
(3) การพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพของการดำเนินโครงการและบริหารงบประมาณรายจ่ายที่ได้รับจัดสรรเป็นเงินอุดหนุนค่าอาหารกลางวันนักเรียน จากการประเมินโครงการอาหารกลางวันโรงเรียนพบปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับผลการดำเนินโครงการและบริหารงบประมาณค่าอาหารกลางวัน คือ ระดับการศึกษาและประสบการณ์ของผู้บริหารโรงเรียน ดังนั้น ควรพัฒนาผู้บริหารโรงเรียนและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดการความรู้การจัดการอาหารกลางวันและสนับสนุนการสร้างเครือข่ายความรู้เพื่อสร้างความรู้ในการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินโครงการและบริหารงบประมาณค่าอาหารกลางวันและควรเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการต้นทุนเพื่อลดปริมาณอาหารเหลือทิ้งเพื่อนำเงินที่ประหยัดได้มาใช้ในการดำเนินโครงการ
(4) การพัฒนาโครงการอาหารกลางวันนักเรียนเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เด็กนักเรียนได้รับพลังงานและสารอาหารที่มีปริมาณและคุณค่าทางโภชนาการที่เพียงพอ เนื่องจากโครงการอาหารกลางวันโรงเรียนมีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดสารอาหารและภาวะทุพโภชนาการในเด็กนักเรียน ดังนั้น เพื่อให้เป็นกลุ่มเป้าหมายโครงการได้รับพลังงานและสารอาหารที่มีปริมาณและคุณค่าทางโภชนาการที่เพียงพอตามเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด จึงมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติม ได้แก่ การจัดทำโครงการอาหารเช้านักเรียนเพื่อขยายผลการแก้ไขปัญหาจากโครงการอาหารกลางวัน และการสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมีความรู้ทางโภชนาการและให้มีการสร้างนักโภชนาการในระดับท้องถิ่นเพื่อสนับสนุนโครงการอาหารกลางวันนักเรียน
เสนอจัดสรรแบบวงเงินรวม (block grant) ให้แต่ละโรงเรียนมีอิสระในการบริหารจัดการมากขึ้น
ปารมี ไวจงเจริญ สส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาชน กรรมาธิการและที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร เสนอว่ากระทรวงศึกษาควรเปลี่ยนการจัดสรรแบบรายหัวมาเป็นการจัดสรรแบบวงเงินรวม (block grant) เพื่อให้แต่ละโรงเรียนมีอิสระในการบริหารจัดการมากขึ้น
“กระทรวงศึกษาเป็นอะไรที่แข็งตัวมาก มีอิสระน้อยมาก ทางที่ดีควรจัดสรรให้โรงเรียนไปเลย ให้เขาบริหารเอง ไม่ใช่แผนการใช้งบทุกอย่างเป็นแบบเดียวกันทั่วทั้งประเทศ มันจะทำให้เขาจัดสรรทุกอย่างได้เหมาะสมกับบริบทตัวเอง ไม่ใช่ตัดเสื้อตัวเดียวให้ใส่เหมือนกันทั้งประเทศ” ปารมี กล่าว
ปารมียกตัวอย่างว่า บางโรงเรียนอาจมีเอกชนในพื้นที่สนับสนุนอุปกรณ์กีฬาแล้ว ดังนั้นจึงสามารถโยกงบประมาณเกี่ยวกับกีฬาไปเติมในส่วนอื่นที่ขาดหรือเติมในงบอาหารกลางวันได้ บางโรงเรียนมีผู้สนับสนุนวัตถุดิบอาหารสดบางส่วน ก็อาจไม่ต้องซื้อส่วนนี้แล้วนำงบไปใช้อย่างอื่นที่ขาดแคลนกว่า
“ปัจจุบันกระทรวงศึกษาใช้วิธีบริหารงบแบบรายหัว ซึ่งแม้จะเชื่อว่าป้องกันการทุจริตได้ แต่สุดท้ายมันยังมีช่องโหว่ให้ทุจริตกันอยู่ดี กลับกันการจ่ายรายหัวยิ่งเป็นปัญหากับโรงเรียนขนาดเล็ก ดิฉันคิดว่าควรเปลี่ยนมาเป็นการจัดสรรแบบ block grant คือให้เป็นก้อน แล้วกำหนดหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนว่าแต่ละโรงเรียนที่บริบทไม่เหมือนกันจะได้ต่างกันอย่างไร บางแห่งที่อยู่ทุรกันดารจะมีตัวคูณเพิ่มอย่างไร เหล่านี้เราออกแบบด้วยกันได้ แล้วประกาศให้โปร่งใส นี่เป็นหนึ่งในการกระจายอำนาจ ให้อิสระแก่โรงเรียน” ปารมี กล่าว “เรื่องนี้ควรเปลี่ยน แม้เป็นเรื่องใหญ่ในทางโครงสร้างระบบงบประมาณ ถ้ายังเปลี่ยนไม่ได้ เพราะโรงเรียนในสังกัด สพฐ.มีตั้ง 29,000 แห่ง เราอาจเริ่มทดลองในโรงเรียนขนาดเล็กก่อนก็ได้”
เรื่องสุดท้าย การบริหารจัดการและระบบตรวจสอบ ปารมีกล่าวว่าเป็นไปอย่างไร้ประสิทธิภาพ ซึ่งทำให้เกิดการทุจริตสูงมาก และมีจำนวนมากที่ไม่เป็นข่าว “เราคงเคยได้ยินเรื่อง ‘ตั๋วช้าง’ ในวงการตำรวจ แต่มันไม่ได้มีแค่นั้น ในวงการการศึกษาก็มีเช่นกัน การเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนใหญ่นั้นมักมีการจ่ายใต้โต๊ะเป็นชั้น ๆ แล้วแต่ความดังของโรงเรียน นี่เป็นเหตุให้ถึงที่สุดก็ต้องมีการถอนทุนคืน ดังนั้น การทุจริตคอร์รัปชันจึงมีสูงเช่นกันในวงการการศึกษา” ปารมี กล่าว
สส.พรรคประชาชนเสนอว่า นอกจากผู้ใหญ่ในกระทรวงศึกษาจะต้องเปลี่ยนชุดความคิดเสียใหม่ ไม่หวงอำนาจไว้ที่ตัวกระทรวง แต่ควรให้อิสระกับโรงเรียนมากขึ้น รวมทั้งแก้ปัญหาเรื่องตั๋วช้าง อีกสิ่งหนึ่งที่จะช่วยได้คือ ภาคประชาสังคมและชุมชนรอบโรงเรียนต้องเข้มแข็งในการตรวจสอบโรงเรียน ผู้ปกครองใส่ใจกับโรงเรียนของบุตรหลานมากขึ้น รวมทั้งทำให้คณะกรรมการสถานศึกษามีความเข้มแข็งมากขึ้น
“โครงสร้างกระทรวงศึกษาไทยยังบิดเบี้ยว บอร์ดโรงเรียนเหมือนตรายาง เหมือนเสือกระดาษ ที่ไม่มีอำนาจหน้าที่อะไร ควรแก้กฎระเบียบให้บอร์ดโรงเรียนมีอำนาจตรวจสอบมากขึ้นเพื่อถ่วงดุลกับผู้บริหารโรงเรียน” ปารมี กล่าว
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กระทรวงศึกษาพยายามแก้ปัญหาเกี่ยวกับโครงการอาหารกลางวันอยู่โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย เช่น การสร้างเว็บไซต์ Thai School Lunch เพื่อรับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับอาหารกลางวันเด็กนักเรียน ปารมีบอกว่าเรื่องนี้น่าส่งเสริม แต่ปรากฏว่าการเข้าถึงก็ยังเป็นเรื่องยาก ระบบมีความซับซ้อนและไม่เป็นที่รู้จักกว้างขวาง ควรต้องปรับปรุงให้ใช้งานง่ายและติดตามผลอย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบกับสังคม สื่อมวลชนต้องช่วยกันเป็นหูเป็นตา สิ่งเหล่านี้น่าจะทำให้ทุกฝ่ายตื่นตัวต่อเรื่องนี้มากขึ้น
นอกจากนี้ปารมียังชี้ถึงช่องแห่งโอกาสในการเปลี่ยนแปลงอีกว่า ยังมีโรงเรียนจำนวนมากที่สังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) โดย อปท.ใหญ่ ๆ หลายแห่งก็สามารถหารายได้ได้พอสมควร จึงอาจจะนำเงินมาสมทบกับงบรายหัวอาหารกลางวันเพิ่มเติมได้ หรือกระทั่งสามารถออกแบบหลักสูตร ออกแบบการบริหารจัดการภายในโรงเรียนให้มีประสิทธิภาพและตรงกับความต้องการของผู้เรียนมากขึ้นได้ เพราะท้องถิ่นมีทรัพยากรและอันที่จริงตามกฎหมายก็มีช่องของความเป็นอิสระในการบริหารจัดการหลักสูตรอยู่พอสมควร หรือแม้กระทั่งโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เองที่ค่อนข้างแข็งตัว ก็มีบางแห่งที่พยายามออกแบบหลักสูตรให้เหมาะกับผู้เรียน เช่น การแบ่งชั้นเรียนมัธยมปลายตามสายอาชีพเพื่อให้มีโฟกัสที่ชัดเจน เป็นต้น
เสนอแนวคิดให้ ‘เอกชนไม่แสวงกำไร’ จัดการ ‘รัฐ-ท้องถิ่น’ สนับสนุนและตรวจสอบ
ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ภาคภูมิ แสงกนกกุล อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เสนอว่าสวัสดิการที่ภาครัฐจัดหามาให้ประชาชนสามารถเป็นในรูปเงินโอน เงินช่วยเหลือ หรือรัฐจะผลิตเป็นสินค้าและบริการเองก็ได้แต่ว่าแต่ละรูปแบบก็มีข้อดีข้อเสียต่างกัน และต้องเลือกใช้ตามสถานการณ์ที่เหมาะสม อย่างกรณีความช่วยเหลือด้านอาหาร ในอดีต หลาย ๆ ประเทศก็มีการให้รัฐเป็นผู้ผลิตอาหารกลางวันให้ แต่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จเนื่องจาก เนื่องจากมื้ออาหารไม่หลากหลาย ไม่ปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์รายวัน ทำให้มีการเปิดให้เอกชนเข้ามาจัดการ ซึ่งจะมีประสิทธิภาพมากกว่า
"เรื่องอาหารการกินเป็นเรื่องที่ต้องแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าในแต่ละวัน สุดท้าย การให้เอกชนเข้ามาจัดการก็จะมีประสิทธิภาพมากกว่า โดยรัฐเปลี่ยนเป็นสนับสนุนด้านการเงินแทน" ภาคภูมิ กล่าว
ส่วนการให้เงินสนับสนุน ปรากฏว่าการให้เงินแก่ผู้ปกครอง เงินดังกล่าวอาจจะไม่แปรเปลี่ยนเป็นอาหารถึงมือเด็ก เพราะแต่ละครอบครัวก็มีความจำเป็นเงื่อนไขไม่เหมือนกัน อีกทั้งถ้าให้เป็นรูปเงินก็ต้องมีกลไกตลาดขายอาหารที่ดีให้กับนักเรียนด้วย ซึ่งในที่ห่างไกลตลาดอาหารดี ๆ ก็หายาก อีกทั้งเด็กอาจไม่ได้ตัดสินใจเลือกซื้ออาหารที่ดีต่อสุขภาพตนเองด้วย ดังนั้นสวัสดิการอาหารแก่เด็กนักเรียนจึงควรอยู่ในรูปมื้ออาหารรายวัน ตัดสินใจแทนตัวเด็กเลยว่าแต่ละวันจะมีอาหารอะไร โดยให้เอกชนไม่แสวงกำไรเป็นผู้รับผิดชอบผลิต และภาครัฐทำหน้าที่สนับสนุนการเงิน และตรวจสอบความปลอดภัยของอาหาร
"รัฐก็ควรกระจายอำนาจความรับผิดชอบไปที่ อปท. ให้มีอิสระในการจัดการ เพราะเป็นเรื่องที่ต้องจัดการทันทีเป็นรายวัน ต้องการความคล่องตัว ทั้งในเรื่องการคิดเมนูอาหาร คำนวณคุณค่าทางโภชนาการ ตรวจสอบความปลอดภัยอาหาร แต่อย่างไรก็ตามการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น ก็ไม่ได้เป็นสูตรสำเร็จตายตัวว่า จะสำเร็จทันทีขึ้นอยู่กับสมรรถนะของ อปท. ในที่นั้น ๆ ด้วย" ภาคภูมิ กล่าว
ภาคภูมิ ยกตัวอย่างว่าในประเทศฝรั่งเศสมีการสร้างความร่วมมือระหว่าง อปท. เขตต่าง ๆ ด้วย รวมถึงมีการให้ภาคธุรกิจ และผู้ผลิตท้องถิ่นมีส่วนร่วมรับผิดชอบคุณภาพชีวิตของลูกหลานตนเอง ของสดที่จะหมดอายุในห้างสรรพสินค้าก็จะถูกบริจาคให้โรงครัวกลาง เพื่อผลิตอาหารให้นักเรียน หรือผลิตภัณฑ์การเกษตรจากท้องถิ่นก็นำมาเป็นส่วนผสม ทำอาหารที่เป็นเอกลักษณ์ท้องถิ่น
ซึ่งนอกจากระบบจัดการที่ดีแล้ว เรื่องนี้มันก็ต้องอาศัยจิตสำนึกส่วนบุคคลด้วย ต้องมองว่า การที่ลูกหลานเราได้รับอาหารที่ดี คุณค่าสารอาหารเพียงพอ ปลอดภัย ช่วยให้พวกเขาพัฒนาทั้งทางร่างกายและอารมณ์ "ยิ่งช่วงวัยประถมเป็นช่วงวัยสำคัญด้านพัฒนาการแล้ว ยิ่งต้องให้ความสำคัญมาก" ภาคภูมิ กล่าว
ตัวอย่างในต่างประเทศ พบ ‘โครงการอาหารกลางวัน’ มักเชื่อมโยงกับ ‘ท้องถิ่น’
Coalition for Healthy School Food ระบุว่าในปัจจุบัน เด็กนักเรียนมากกว่า 388 ล้านคนทั่วโลก จากอย่างน้อย 161 ประเทศ ได้รับประทานอาหารกลางวันที่โรงเรียนโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายหรือได้รับการอุดหนุนบางส่วน โครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนนี้ไม่เพียงแต่ช่วยบรรเทาภาระทางการเงินของครอบครัว แต่ยังส่งเสริมโภชนาการที่ดีและสนับสนุนการเรียนรู้ของเด็ก ๆ อีกด้วย สำหรับตัวอย่างโครงการอาหารกลางวันที่น่าสนใจจากทั่วโลกมีดังนี้
ญี่ปุ่น
โครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนของญี่ปุ่น (Japan's school food program - SFP) เริ่มต้นขึ้นในปี ค.ศ.1954 โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อแก้ไขปัญหาความหิวโหยและภาวะทุพโภชนาการในเด็กนักเรียนที่ยากจน โครงการนี้ได้พัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ และอาหารกลางวันในโรงเรียนในปัจจุบันถือเป็น "ตำราเรียนที่มีชีวิต" ที่นอกจากจะให้นักเรียนได้อิ่มท้องแล้ว ยังให้ความรู้ด้านวัฒนธรรมและอาหารท้องถิ่น ปลูกฝังความกตัญญู และให้ความรู้เกี่ยวกับการผลิต การกระจาย และการบริโภคอาหาร
จุดเด่นของ SFP ของญี่ปุ่นคือเป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมการศึกษาเรื่องอาหารและโภชนาการที่ครอบคลุมทั่วประเทศที่เรียกว่า "โชกุอิกุ" กฎหมายขั้นพื้นฐานว่าด้วยโชกุอิกุ ซึ่งมีผลบังคับใช้ในปี ค.ศ.2005 ได้กำหนดให้มีการส่งเสริมการศึกษาเรื่องอาหารและโภชนาการในโรงเรียน สถานรับเลี้ยงเด็ก ที่บ้านและในชุมชน โดยอาศัยการประสานงานและความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในชุมชน ทั้งนี้กระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมงมีบทบาทสำคัญในการกำหนดนโยบายและเป้าหมายสำหรับการส่งเสริมโชกุอิกุ ในขณะที่กระทรวงศึกษาธิการ วัฒนธรรม กีฬา วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีเป็นหน่วยงานหลักที่กำกับดูแลการดำเนินงานอาหารกลางวันในโรงเรียนและโชกุอิกุในโรงเรียน
SFP มาจากการจัดสรรงบประมาณร่วมกันระหว่างรัฐบาลกลาง จังหวัด และท้องถิ่น โดยมีส่วนร่วมจากผู้ปกครองด้วย โดยทั่วไปแล้วผู้ปกครองจะจ่ายค่าอาหารเป็นรายเดือนโดยตรง อย่างไรก็ตามท้องถิ่นหลายแห่งให้เงินอุดหนุนเพื่อครอบคลุมค่าอาหารครึ่งหนึ่ง และโรงเรียนประถมและมัธยมศึกษาตอนต้นประมาณ 4.4% ให้บริการอาหารฟรี
หนึ่งในองค์ประกอบสำคัญของ SFP ของญี่ปุ่นคือ “โชกุอิกุโทบัน” ซึ่งนักเรียนมีหน้าที่ในการเสิร์ฟอาหารกลางวันให้กับเพื่อนร่วมชั้นและครู กิจกรรมนี้ช่วยให้นักเรียนได้เรียนรู้เกี่ยวกับคุณค่าของวัฒนธรรมอาหารและปลูกฝังความกตัญญูต่ออาหาร อาหารกลางวันในโรงเรียนของญี่ปุ่นจัดทำขึ้นที่ครัวกลาง (คิดเป็นสัดส่วน 55%) และครัวในโรงเรียน (คิดเป็นสัดส่วน 42%) โดยทั่วไปแล้ว อาหารกลางวันในโรงเรียนของญี่ปุ่นจะประกอบด้วยข้าว ขนมปัง หรือบะหมี่เป็นอาหารจานหลัก พร้อมด้วยนมและซุป อาหารจะแตกต่างกันไปในแต่ละวัน และไม่มีการใช้เมนูซ้ำๆ
แม้ว่า SFP ของญี่ปุ่นจะได้รับการยกย่องอย่างกว้างขวาง แต่ก็ยังคงเผชิญกับความท้าทาย เช่น ความยากลำบากในการจ้างครูโภชนาการในบางภูมิภาค การขาดแคลนภาคเกษตรในประเทศเพื่อสนับสนุนเป้าหมายการจัดหาอาหารในท้องถิ่น และค่าใช้จ่ายด้านงบประมาณที่เพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม SFP ของญี่ปุ่นมีประโยชน์มากมาย เช่น มาตรฐานด้านโภชนาการที่เข้มงวด โครงการศึกษาเรื่องอาหารในโรงเรียนที่ครอบคลุม และความไว้วางใจและการสนับสนุนจากสาธารณชนในระดับสูง
อังกฤษ
นโยบายอาหารในโรงเรียนของอังกฤษ (UK's School Food Program) มีรากฐานมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1906 โดยมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายและโครงการต่าง ๆ เรื่อยมา จนกระทั่งในปี ค.ศ. 2014 ได้มีการกำหนดมาตรฐานอาหารในโรงเรียน หรือ School Food Standards ขึ้น เพื่อเป็นแนวทางในการส่งเสริมโภชนาการที่ดีให้กับนักเรียน
'School Food Standards' ครอบคลุมอาหารและเครื่องดื่มทุกชนิดที่โรงเรียนจัดหาให้ ไม่ว่าจะเป็นอาหารกลางวัน อาหารเช้า ของว่าง และอาหารหลังเลิกเรียน โดยมีรายละเอียดที่ครอบคลุมถึงประเภทอาหาร ปริมาณที่เหมาะสม และข้อจำกัดในการเสิร์ฟอาหารบางประเภท เช่น อาหารทอด อาหารที่มีส่วนผสมของแป้งทอดกรอบ และอาหารที่มีไขมัน น้ำตาล และเกลือสูง นอกจากนี้ ยังมีข้อกำหนดให้โรงเรียนต้องจัดหาน้ำดื่มสะอาดให้แก่นักเรียนอย่างเพียงพอตลอดเวลา ส่วน 'โครงการอาหารกลางวันโรงเรียนฟรี' ในอังกฤษปัจจุบันมีอยู่ 2 โครงการ ได้แก่ โครงการที่พิจารณาจากรายได้ของครอบครัว และโครงการ Universal Infant Free School Meal ซึ่งเป็นโครงการอาหารกลางวันฟรีสำหรับนักเรียนในช่วง 3 ปีแรกของการศึกษา
แม้จะมี School Food Standards และโครงการอาหารกลางวันฟรี แต่ระบบอาหารในโรงเรียนของอังกฤษยังคงเผชิญกับความท้าทายหลายประการ เช่น เกณฑ์รายได้สำหรับครอบครัวที่เข้าข่ายได้รับอาหารกลางวันฟรียังคงต่ำเกินไป ส่งผลให้เด็กยากจนจำนวนหนึ่งไม่ได้รับสิทธิ์นี้ นอกจากนี้ ยังขาดการตรวจสอบและประเมินคุณภาพอาหารอย่างจริงจัง ทำให้อาหารในบางโรงเรียนไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด
สกอตแลนด์
โครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนของสกอตแลนด์ (Scotland’s school food program) ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2008 รัฐบาลสกอตแลนด์ได้กำหนดให้โรงเรียนจัดอาหารที่สมดุลและมีคุณค่าทางโภชนาการให้แก่นักเรียน โดยในปี ค.ศ. 2015 ได้ริเริ่มโครงการอาหารกลางวันฟรีสำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-3 ปัจจุบัน โรงเรียนในสกอตแลนด์ให้บริการอาหารกลางวันเฉลี่ยวันละ 350,000 มื้อ โดย 145,000 มื้อ เป็นอาหารฟรีสำหรับนักเรียนที่มีสิทธิ์
นโยบายอาหารโรงเรียนของสกอตแลนด์มีรากฐานมาจากความมุ่งมั่นที่จะยกระดับสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของเด็กและเยาวชน โครงการนี้เกิดขึ้นจากความกังวลที่ว่าอาหารของเด็กและเยาวชนจำนวนมากในสกอตแลนด์ยังไม่สอดคล้องกับคำแนะนำด้านโภชนาการแห่งชาติ ด้วยตระหนักถึงความสำคัญของโภชนาการที่เหมาะสมต่อการเรียนรู้และสุขภาพของนักเรียน รัฐบาลสกอตแลนด์จึงได้ดำเนินโครงการต่าง ๆ รวมถึงการจัดอาหารกลางวันฟรีในโรงเรียน แม้จะมีความพยายามเหล่านี้ แต่อัตราการรับประทานอาหารกลางวันในโรงเรียนยังคงเป็นประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ โดยเฉพาะในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ปัจจัยหนึ่งที่อาจส่งผลกระทบคือค่าใช้จ่าย ซึ่งแตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 2.15 ปอนด์ต่อมื้อ
รัฐบาลสกอตแลนด์ยังคงมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมการรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพในโรงเรียน โดยสำรวจกลยุทธ์ต่าง ๆ และพยายามแก้ไขปัญหาที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการรับประทานอาหารกลางวันฟรีของนักเรียน ทั้งนี้ เพื่อสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งสำหรับสุขภาพและการเรียนรู้ของเยาวชนสกอตแลนด์ในระยะยาว
เยอรมนี
โครงการอาหารกลางวันในเยอรมนี ดำเนินการภายใต้นโยบายกระจายอำนาจ โดยแต่ละรัฐมีอิสระในการบริหารจัดการอาหารกลางวันสำหรับนักเรียน ด้วยเหตุนี้ จึงไม่มีโครงการอาหารกลางวันระดับชาติ ส่งผลให้คุณภาพและการจัดบริการอาหารกลางวันมีความแตกต่างกันไปในแต่ละโรงเรียน
แม้จะไม่มีโครงการระดับชาติ แต่หน่วยงานรัฐบาลกลางหลายแห่งมีบทบาทสำคัญในการกำหนดนโยบายด้านโภชนาการในสถานศึกษา โดยร่วมมือกันพัฒนามาตรฐานอาหารเพื่อสุขภาพและความยั่งยืนในโรงเรียน นอกจากนี้ รัฐบาลกลางยังให้การสนับสนุนด้านงบประมาณสำหรับโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงโรงอาหารของโรงเรียน อย่างไรก็ตาม ความรับผิดชอบหลักในการดำเนินโครงการอาหารกลางวันตกอยู่กับหน่วยงานท้องถิ่น ซึ่งมีหน้าที่ในการก่อสร้างโรงเรียน จัดจ้างผู้ให้บริการอาหาร และบริหารจัดการด้านการเงินของโครงการ
โดยทั่วไป ผู้ปกครองเป็นผู้รับภาระค่าอาหารกลางวันของบุตรหลาน แต่รัฐบาลได้จัดให้มีโครงการ "การศึกษาและการมีส่วนร่วม" (Education and Participation) เพื่อสนับสนุนอาหารกลางวันฟรีสำหรับเด็กจากครอบครัวผู้มีรายได้น้อย ทว่า มีเพียงส่วนน้อยของผู้มีสิทธิ์ที่ได้รับประโยชน์จากโครงการนี้ เนื่องจากความยุ่งยากในกระบวนการสมัครและการขาดการประชาสัมพันธ์ที่ทั่วถึง ในขณะเดียวกัน กรุงเบอร์ลินได้ริเริ่มโครงการอาหารกลางวันฟรีสำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษา โดยมุ่งหวังให้เด็กทุกคนได้รับอาหารที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึง
แม้จะมีความพยายามในการจัดบริการอาหารกลางวันที่มีคุณค่าทางโภชนาการให้แก่นักเรียนทุกคน แต่โรงเรียนในเยอรมนียังคงเผชิญกับความท้าทายหลายประการ การขาดโครงการอาหารกลางวันระดับชาติก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงและคุณภาพของอาหาร นอกจากนี้ ยังมีปัญหาอื่น ๆ เช่น ข้อจำกัดด้านงบประมาณ การขาดแคลนบุคลากร และอัตราการมีส่วนร่วมของนักเรียนที่ต่ำ อีกทั้งการแข่งขันจากร้านค้าบริเวณใกล้เคียงที่จำหน่ายอาหารที่ไม่เอื้อต่อสุขภาพ ยังเป็นอุปสรรคสำคัญในการส่งเสริมพฤติกรรมการบริโภคที่ดีในกลุ่มนักเรียน
เดนมาร์ก
เดนมาร์กไม่มีโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนระดับชาติ แต่เทศบาลนครโคเปนเฮเกนได้เป็นผู้บุกเบิกริเริ่มโครงการอาหารกลางวันสำหรับนักเรียนขึ้นในปี ค.ศ.2007 โครงการนี้มีเป้าหมายสำคัญสองประการ คือ ส่งเสริมสุขภาวะที่ดีในกลุ่มนักเรียน และปรับเปลี่ยนทัศนคติของสังคมต่อวัฒนธรรมการบริโภคอาหาร ความสำเร็จของโครงการนี้เห็นได้ชัดเจน โดยปัจจุบันมีโรงเรียนในโคเปนเฮเกนถึง 59 แห่งจากทั้งหมด 9,000 แห่งที่สามารถจัดบริการอาหารกลางวันให้แก่นักเรียนได้ทุกวัน ส่งผลให้นักเรียนในเมืองหลวงกว่า 9,000 คนได้รับประทานอาหารกลางวันที่มีคุณภาพเป็นประจำ นอกจากนี้ ยังพบว่า 87% ของนักเรียนระดับประถมศึกษาในโคเปนเฮเกนสามารถเข้าถึงบริการอาหารกลางวันได้อย่างทั่วถึง
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าโครงการของโคเปนเฮเกนจะประสบความสำเร็จอย่างน่าชื่นชม แต่ก็ยังคงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องผลักดันให้เกิดโครงการอาหารกลางวันในระดับชาติ เนื่องจากในเมืองอื่น ๆ ส่วนใหญ่ของเดนมาร์ก วัฒนธรรมการนำอาหารกลางวันใส่กล่องมาโรงเรียนยังคงฝังรากลึกในสังคม
โครงการอาหารกลางเรียนของโคเปนเฮเกนมี 2 รูปแบบคือ Food Schools และ EAT
Food Schools เป็นโรงเรียนที่มีครัวของตัวเองและให้อาหารกลางวันที่ปรุงสดใหม่ อาหารส่วนใหญ่เป็นอาหารออร์แกนิกตามฤดูกาล ปรุงจากวัตถุดิบสดใหม่ Food Schools ยังมุ่งเน้นไปที่การเพิ่มพูนความรู้ด้านอาหารโดยให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการวางแผนเมนูและกระบวนการประกอบอาหารประจำวัน ปัจจุบัน Food Schools มีอยู่ 16 แห่งในโคเปนเฮเกน รวมถึงโรงเรียนของรัฐ 12 แห่งและโรงเรียนสำหรับเด็กพิเศษ 4 แห่ง
EAT เป็นครัวกลางที่จัดส่งอาหารไปยังโรงเรียนต่าง ๆ ทุกวัน อาหารจะถูกบรรจุและขนส่งไปยังโรงเรียน ซึ่งนักเรียนจะรับประทานในห้องเรียน EAT ให้บริการอาหารเดนมาร์กที่คุ้นเคยผสมกับอาหารต่างประเทศและอาหารมังสวิรัติ โดยหนึ่งในสองจานหลักที่ผลิตในแต่ละวันจะเป็นอาหารมังสวิรัติเสมอ ปัจจุบัน EAT มีให้บริการใน 45 โรงเรียนและให้อาหารแก่นักเรียนประมาณ 4,000 ถึง 6,000 คนต่อวัน
แม้ว่าทั้ง EAT และ Food Schools จะให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการผลิต/เสิร์ฟอาหาร แต่นักเรียนใน Food Schools มีส่วนร่วมในกระบวนการประกอบอาหารและได้รับความรู้ด้านอาหารมากกว่า ความท้าทายประการหนึ่งสำหรับโครงการอาหารกลางวันโรงเรียนของโคเปนเฮเกนคือการขยายไปยังนักเรียนมัธยมศึกษาและนักศึกษาระดับสูงกว่า นอกจากนี้ยังมีความจำเป็นที่ครูจะต้องเรียนรู้เพิ่มเติมเพื่อพัฒนาวัฒนธรรมและความรู้ด้านอาหารของเดนมาร์กต่อไป
อิตาลี
โครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนของอิตาลีอยู่ภายใต้การดูแลของหน่วยงานท้องถิ่น ซึ่งนำไปสู่ความแตกต่างอย่างมากในการดำเนินงานและมาตรฐานทั่วประเทศ รัฐบาลกลางไม่ได้ให้เงินทุนสำหรับโครงการอาหารในโรงเรียน ยกเว้นเงินอุดหนุนที่กระทรวงเกษตรมอบให้กับโรงอาหารในโรงเรียนที่ใช้อาหารออร์แกนิกอย่างน้อย 80% ส่วนใหญ่แล้วเทศบาลจะจ้างบริษัทจัดเลี้ยงให้บริการอาหารในโรงเรียน แม้ว่านโยบายระดับชาติจะมีอยู่ แต่แต่ละภูมิภาคก็รับผิดชอบโครงการอาหารในโรงเรียนของตนเอง
โดยทั่วไปแล้ว ค่าอาหารกลางวันจะอยู่ที่ 2.20 ถึง 6.60 ยูโรต่อมื้อ ขึ้นอยู่กับประเภทของเมนูและคุณภาพอาหาร ผู้ปกครองบางคนพยายามเรียกร้องสิทธิในการให้นักเรียนนำอาหารกลางวันมาจากบ้าน เนื่องจากอาหารในโรงเรียนค่อนข้างแพง อย่างไรก็ตาม ศาลฎีกาสั่งว่าโรงเรียนมีสิทธิที่จะตัดสินใจว่าอนุญาตให้นำอาหารกลางวันมาจากบ้านได้หรือไม่
อิตาลีให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับแนวทางของโรงเรียน กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดแนวทางระดับชาติสำหรับอาหารกลางวันในโรงเรียน กำหนดปริมาณสารอาหารที่ได้รับต่อวันสำหรับกลุ่มอายุต่าง ๆ และกระทรวงสิ่งแวดล้อมได้ส่งเสริมให้โรงอาหารในโรงเรียนมีความยั่งยืนมากขึ้น ตัวอย่างเช่น กำหนดให้อาหารออร์แกนิกอย่างน้อย 50% และกำหนดให้ใช้จานที่ล้างทำความสะอาดได้ นอกจากนี้ 'คณะกรรมาธิการโรงอาหาร' (Commissione Mensa) ซึ่งประกอบด้วยผู้ปกครอง ได้รับการแต่งตั้งจากแต่ละโรงเรียนเพื่อตรวจสอบและประเมินคุณภาพของบริการอาหาร ครูสนับสนุนความพยายามนี้โดยเชื่อมโยงอาหารกลางวันกับเนื้อหาในชั้นเรียนที่ครอบคลุมด้านต่าง ๆ เช่น อาหาร โภชนาการ การดำรงชีวิต เกษตรกรรม คุณภาพอาหาร และวัฒนธรรมอาหารอิตาลี
แนวทางของอิตาลีเน้นย้ำถึงความสำคัญของอาหารที่จัดหาในระดับท้องถิ่นและความยั่งยืน ซึ่งสะท้อนให้เห็นในกฎหมายส่งเสริมผลิตภัณฑ์อาหารออร์แกนิกที่มีคุณภาพดีในโรงอาหารสาธารณะ แม้จะมีความพยายามเหล่านี้ แต่คุณภาพของโรงอาหารในโรงเรียนยังคงแตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาคและท้องถิ่น ในขณะที่โรงอาหารบางแห่งให้บริการอาหารรสเลิศและดีต่อสุขภาพ แต่ก็มีโรงอาหารที่เสนอเมนูอาหารแปรรูปมากขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยเช่นกัน
บราซิล
โครงการอาหารกลางวันโรงเรียนแห่งชาติของบราซิล (Brazilian National School Food Program - PNAE) ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1955 ถือเป็นหนึ่งในโครงการทางสังคมที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยให้บริการอาหารแก่เด็กนักเรียนกว่า 42 ล้านคน ในโรงเรียนรัฐบาลทั่วประเทศบราซิล ที่มุ่งเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารและโภชนาการ พร้อมทั้งปลูกฝังนิสัยการรับประทานอาหารที่ดีให้แก่นักเรียน วัตถุประสงค์หลักของโครงการนี้ ประกอบด้วยการสร้างหลักประกันด้านอาหารและโภชนาการสำหรับนักเรียน การยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาผ่านการจัดหาอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ และการให้ความรู้ด้านโภชนศาสตร์เพื่อส่งเสริมพฤติกรรมการบริโภคที่ดีต่อสุขภาพในระยะยาว
นอกจากนี้ PNAE ยังมุ่งเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจท้องถิ่น โดยส่งเสริมการจัดซื้อวัตถุดิบอย่างยั่งยืนจากเกษตรกรรายย่อยในพื้นที่ เพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว กฎหมายได้กำหนดให้อย่างน้อย 30% ของงบประมาณที่รัฐบาลกลางจัดสรรให้ ต้องนำไปใช้ในการจัดซื้อผลิตภัณฑ์โดยตรงจากเกษตรกรครัวเรือนในท้องถิ่น
การบริหารจัดการโครงการนี้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกองทุนแห่งชาติเพื่อการพัฒนาการศึกษา ซึ่งทำหน้าที่จัดสรรทรัพยากรทางการเงินไปยังหน่วยงานระดับรัฐ เขตปกครองพิเศษ และเทศบาล PNAE ได้รับการยกย่องว่าเป็นแบบอย่างของโครงการแบบบูรณาการที่ส่งเสริมความมั่นคงทางอาหารและโภชนาการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตในเชิงลบของชาวบราซิล อันเป็นผลมาจากกระแสความทันสมัยและการขยายตัวของเมือง ได้ก่อให้เกิดความท้าทายต่อการบรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการ ซึ่งเป็นประเด็นท้าทายที่ต้องได้รับการพิจารณาและแก้ไขอย่างรอบคอบต่อไป
ต้องดึงท้องถิ่นและชุมชน เข้ามามีบทบาทมากกว่าเดิม
สำหรับประเทศไทย แม้ว่าการจัดสรรงบประมาณให้กับโครงการอาหารกลางวันจะเป็นหน้าที่ของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นผ่าน อปท.ไปให้โรงเรียนในพื้นที่ และแต่ละโรงเรียนจะมีคณะกรรมการอาหารกลางวัน แต่จะดูเหมือนว่าผู้ปกครอง คนในท้องถิ่นและชุมชนกลับไม่มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง
ทั้งนี้การจัดอาหารกลางวันในโรงเรียนเป็นประเด็นสำคัญที่ส่งผลต่อสุขภาพและพัฒนาการของเด็กนักเรียน ในขณะที่ส่วนกลางมีบทบาทหลักในการกำหนดนโยบายด้านนี้มาอย่างยาวนาน แต่ปัจจุบันมีแนวคิดว่าท้องถิ่นและชุมชนควรเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น
การให้ท้องถิ่นและชุมชนมีบทบาทสำคัญในการจัดอาหารกลางวันนักเรียน อาจนำไปสู่ประโยชน์หลายด้าน เช่น การใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นที่สดใหม่และมีคุณค่าทางโภชนาการ การส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน และการจัดเมนูอาหารที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมท้องถิ่น นอกจากนี้ยังอาจช่วยสร้างความรู้สึกมีส่วนร่วมและความรับผิดชอบร่วมกันของคนในชุมชนต่อการพัฒนาเด็กและเยาวชนในพื้นที่
ในงานศึกษา ‘การถอดบทเรียน การถอดบทเรียนความสำเร็จของรูปแบบการบริหารจัดการโรงเรียนต้นแบบ อาหารกลางวันดีเด่นระดับประเทศในเขตพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง’ โดยปรางทิพย์ เจี้ยมกลิ่น และคณะ ที่เผยแพร่เมื่อปี พ.ศ.2564 พบว่าโรงเรียนที่มีการจัดอาหารกลางวันที่ดีนั้น ได้เปิดให้ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ และเอกชนในพื้นที่ เข้ามามีส่วนร่วมในการดําเนินงานโครงการอาหารกลางวัน โดยการทำบันทึกข้อตกลง MOU กับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เข้ามามีส่วนร่วมและชุมชนร่วมกันสนับสนุนโครงการอาหารกลางวัน โครงการส่งเสริมผลผลิตเพื่อนักเรียนในโรงเรียน และโครงการพัฒนาระบบสุขาภิบาลโครงการเหล่านี้ได้รับการช่วยเหลือจากหน่วยงานต่าง ๆ เช่น อบต. ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานประมง โรงงานน้ำตาล กองทุนเงินล้านหมู่บ้าน ชมรมศิษย์เก่า โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ ปราชญ์ชาวบ้านและชุมชนสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย และบริษัทห้างร้านต่าง ๆ รวมไปถึงตัวแทนผู้ปกครอง วัด เป็นต้น
โดยการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายโรงเรียนระดมความคิดเห็นจากหน่วยงานและชุมชนเพื่อ ประชุมวางแผน มอบนโยบาย กำหนดกิจกรรมการเรียนรู้ต่าง ๆ การใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น ปราชญ์ชาวบ้าน วิทยากรในท้องถิ่น มาให้ความรู้ในการดำเนินกิจกรรมด้านการเกษตร การแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เพื่อสนับสนุนโครงการอาหารกลางวันทางโรงเรียนสร้างภาคีเครือข่ายกับหน่วยงานต่าง ๆ ในชุมชน เพื่อร่วมพัฒนาสนับสนุนโครงการอาหารกลางวัน มีการระดมทรัพยากร คน งาน เงิน วัสดุอุปกรณ์จากหน่วยงานอื่น ๆ ทั้งภาครัฐ และเอกชน นอกจากนี้ยังขอสนับสนุนเงินงบประมาณค่าอาหารกลางวันจาก อบต. ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานประมงอำเภอ และบริษัทห้างร้านต่าง ๆ ในพื้นที่เมื่อมีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ตามที่กำหนดไว้ในโครงการอาหารกลางวัน โรงเรียนมีการประชาสัมพันธ์การจัดกิจกรรม ซึ่งดําเนินงานในรูปแบบที่หลากหลาย โดยเฉพาะสื่อสังคมออนไลน์ เช่น โรงเรียนมีธนาคารเกษตรและสหกรณ์การเกษตรมามอบเงินทุนอาหารกลางวัน กิจกรรมตลาดนัดประจำเดือน เพื่อจําหน่ายผลผลิตทางการเกษตร เป็นต้น เมื่อดำเนินกิจกรรมดังกล่าวเสร็จสิ้น โรงเรียนจะประชาสัมพันธ์หลากหลายช่องทางคือ Line Application, แผ่นพับกิจกรรม, facebook, การประชาสัมพันธ์หน้าเสาธง, การแจ้งในที่ประชุมคณะกรรมการสถานศึกษา เป็นต้น
ธนากร สัมมาสาโก ผู้ประกอบการร้านอาหารตามสั่ง และอดีตผู้สมัครสมาชิกสภา อบจ.จังหวัดบุรีรัมย์ มองว่าชุมชนและ อปท. ต้องตระหนักถึงความสำคัญของโภชนาการสำหรับเยาวชนในพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของอาหารกลางวันในโรงเรียน ประเด็นสำคัญลำดับแรกคือการส่งเสริมให้คนในท้องถิ่นเป็นผู้รับผิดชอบการจัดเตรียมอาหาร แทนที่จะเป็นผู้รับเหมาจากต่างถิ่น ยิ่งไปกว่านั้น หากผู้ประกอบอาหารเป็นผู้ปกครองของนักเรียนในโรงเรียนนั้น ๆ ก็จะยิ่งเพิ่มความพิถีพิถันและใส่ใจในคุณภาพของอาหารที่จัดเตรียมให้บุตรหลานของตนและเพื่อนร่วมชั้นเรียน
"ในฐานะที่ผมก็เป็นผู้ปกครองด้วย เบื้องต้นควรลองให้คนที่มีลูกเรียนอยู่ในโรงเรียนนั้น เป็นคนรับเหมาทำอาหาร เพราะเขาก็อยากให้ลูกเขากินของดี ๆ เด็กคนอื่น ๆ ก็จะได้ของที่ดี ๆ ตามไปด้วย" ธนากร กล่าว
และในฐานะผู้พยายามเข้าไปมีส่วนร่วมกับการบริหารท้องถิ่น ด้วยการลงสมัครเลือกตั้งท้องถิ่นในหลายระดับ ธนากร ก็มองเห็นศักยภาพในการเชื่อมโยงโครงการอาหารกลางวันของโรงเรียนเข้ากับการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน เขาเชื่อว่าหาก อปท. ในพื้นที่ให้การสนับสนุนอย่างจริงจัง จะสามารถสร้างประโยชน์ร่วมกันได้หลายด้าน
โดยเขาเสนอแนวคิดว่า อปท. สามารถส่งเสริมให้เกษตรกรในท้องถิ่นผลิตวัตถุดิบอาหารที่ปลอดภัยและมีคุณภาพ เพื่อป้อนเข้าสู่โครงการอาหารกลางวันของโรงเรียน ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร และในขณะเดียวกันก็ทำให้นักเรียนได้รับประทานอาหารที่สดใหม่และมีคุณค่าทางโภชนาการ
“ควรต้องใช้วัตถุดิบที่มีในท้องถิ่นนั้น ๆ เพื่อสร้างรายได้ให้คนในพื้นที่ เช่น อย่าไปซื้อไก่หรือไข่จากบริษัทยักษ์ใหญ่มาทำอาหาร ให้ใช้ไก่หรือไข่ที่เลี้ยงในชุมชน พวกไก่อารมณ์ดีหรือไก่บ้านเนื้อแน่นหลากหลายสายพันธุ์ ก็จะเป็นการส่งเสริมอาชีพที่ยั่งยืนให้กับคนในชุมชนด้วย” ธนากร กล่าว
นอกจากนี้ ธนากรยังแนะนำให้มีการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เกี่ยวกับการเกษตรและโภชนาการในโรงเรียน โดยอาจเชิญเกษตรกรท้องถิ่นมาเป็นวิทยากร เพื่อปลูกฝังความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับอาหารท้องถิ่นให้แก่เด็กนักเรียน
ธนากรเชื่อว่าการดำเนินการตามแนวทางนี้ จะไม่เพียงแต่พัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนเท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจท้องถิ่นอย่างยั่งยืน โดยอาศัยความร่วมมือระหว่าง อปท. โรงเรียน และชุมชนเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อน.