'ส.ส.ก้าวไกล' เสนอยุบ 'พม.จังหวัด' ตั้งหน่วยงาน 'สวัสดิการท้องถิ่น' ดูแลแทน
อภิปรายงบฯ 2564 เมื่อ 2 ก.ค.2563 'วรรณวิภา ไม้สน' ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เสนอยุบ 'พม.จังหวัด' ตั้งหน่วยงาน 'สวัสดิการท้องถิ่น' ดูแลแทน ย้ำ ถึงเวลาต้องยุติรัฐราชการรวมศูนย์
เมื่อวันที่ 2 ก.ค. 2563 ที่รัฐสภา (เกียกกาย) วรรณวิภา ไม้สน ส.ส.บัญชีรายชื่อ สัดส่วนแรงงาน พรรคก้าวไกล อภิปราย ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ว่า งบประมาณด้านสวัสดิการสังคมของประเทศไทย ถูกจัดสรรในลักษณะฐานน้อยเพิ่มน้อย แต่ฐานเยอะกลับเพิ่มเยอะ กล่าวคือ สวัสดิการของข้าราชการที่ได้มากอยู่แล้วกลับได้มากขึ้นอีก ส่วนสวัสดิการประชาชนที่ได้น้อยก็ยังได้น้อยอยู่อย่างนั้น ผลก็คือระยะห่างระหว่างข้าราชการกับประชาชนยิ่งถ่างกว้าง ซึ่งจะทำให้ไม่มีทางลดปัญหาความเหลื่อมล้ำได้
หากดูจากตัวเลขจะเห็นว่า ข้าราชการ 2 ล้านคน ได้รับงบประมาณเพื่อเป็นสวัสดิการ 415,100 ล้านบาท แต่ประชาชน 66 ล้านคน ได้รับงบตรงนี้เพียง 296,422 ล้านบาท จะเห็นว่าสูงกว่าของประชาชนถึง 2 เท่าตัว ในฐานะประชาชนผู้เสียภาษีจึงเป็นคำถามว่า ทำไมประชาชนจึงไม่มีสิทธิในสวัสดิการที่ดีและมีความมั่นคงในชีวิตแบบนี้บ้าง
“ในวิกฤติโควิด 19 ครั้งนี้ นอกจากการเยียวยาไม่ทั่วถึงแล้ว ยังทำให้เกิดการว่างงานหรือรายได้ลดลง ซ้ำร้ายกว่านั้นบางคนถูกเลิกจ้างเพราะที่ทำงานถูกปิดกระทันหัน แต่กระทรวงแรงงานกลับลดงบประมาณของกรมการจัดหางานลงอีก ถามว่าดูย้อนแย้งหรือไม่ หากไม่มีมาตรการรองรับ ปัญหาก็จะไปตกกับประชาชนที่ต้องเผชิญชะตากรรมกันเอง”
ทั้งนี้ วรรณวิภา มีข้อเสนอเร่งด่วนต่อรัฐบาลคือ นอกจากการเยียวยาถ้วนหน้า ต้องอัดฉีดงบประมาณให้กองทุนประกันสังคม เพื่อดึงดูดให้คนสนใจร่วมกองทุนมากขึ้นขึ้น ไม่ว่าด้านการรักษาพยาบาล เบี้ยบำนาญ เงินชราพ เงินว่างงาน เพื่อเชิญชวนให้แรงงานนอกระบบหรือผู้ประกอบอาชีพอิสระมีหลักประกันยามว่างงานและมีสวัสดิการพื้นฐานที่เข้าถึงได้
สำหรับข้อเสนอระยะยาว ต้องมีเงินเดือนพื้นฐานถ้วนหน้า หรือ UBI (Universal Basic Income ) สำหรับประชาชน และควรยุบหน่วยงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์หรือ พม.จังหวัด เพื่อ ยุติรัฐข้าราชการรวมศูนย์ ทั้งนี้ UBI จะช่วยรองรับความเสี่ยงจากการสูญเสียงาน และลดความเหลื่อมล้ำในการถือครองทรัพยากรได้ นอกจากนี้ ยังช่วยเสริมให้มีการใช้จ่ายหมุนเวียนไปที่เศรษฐกิจท้องถิ่น ส่วนการยุบ พม.จังหวัด นั้น เมื่อยุบแล้วต้องตั้งหน่วยงาน ‘สวัสดิการท้องถิ่น’ ขึ้นมาแทน เพราะ พม. ยังคงขึ้นตรงกับกระทรวงต้นสังกัด เมื่อเกิดปัญหาต้องเสนอย้อนจากข้างล่างไปให้ข้างบนสั่งการลง กว่าจะอนุมัติงบประมาณทั้งช้าและไม่ทั่วถึง หากหวงอำนาจไว้จะยิ่งทำให้ประชาชนเสียโอกาสอย่างไม่ควรเป็น ควรให้ท้องถิ่นมีอำนาจบริหารและตัดสินใจ งบสวัสดิการจะเข้าถึงประชาประชาชนได้ทั่วถึง มีประสิทธิภาพและลดขั้นตอน
“การจัดสรรงบประมาณสวัสดิการสังคมไม่ได้เอาประชาชนเป็นที่ตั้ง จนทำให้ประชาชนตกหล่นและเข้าไม่ถึงอีกทั้งต้องพิสูจน์สิทธิมากมายขนาดนี้ จึงถึงเวลาแล้วที่ต้องปรับเปลี่ยนใหม่ ถ้าเปลี่ยนไม่ได้ก็เปลี่ยนรัฐบาลไปเสียดีกว่า” วรรณวิภา กล่าวทิ้งท้าย