เดลีนิวส์คุยกับ 'ณัฐกร วิทิตานนท์' อย่ามองข้ามเรื่องใกล้ตัว! โหมโรงเลือกตั้ง 'อบจ.'


16 พ.ย. 2563 ทีมข่าว 1/4 Special Report เว็บไซต์เดลีนิวส์ เผยแพร่บทสัมภาษณ์ 'อย่ามองข้ามเรื่องใกล้ตัว! โหมโรงเลือกตั้ง 'อบจ.' ซึ่งเป็นการพูดคุยกับ ดร.ณัฐกร วิทิตานนท์ ภาควิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง 'THE GLOCAL - ท้องถิ่นเคลื่อนโลก' ว่าด้วยการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัดในเดือน ธ.ค. 2563 

“งบประมาณ” อบจ.มีมหาศาล

ดร.ณัฐกร ให้ความเห็นว่า ภาพรวมงบประมาณองค์กรปกครองท้องถิ่นนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นงบประมาณของ อบจ.ซึ่งมีด้วยกัน 76 แห่งทั้งประเทศ ใน อบจ.นครราชสีมา นั้นมีงบประมาณมากสุดคือ 3 พันกว่าล้านบาท ขณะที่ อบจ. จังหวัดเล็ก ๆ ก็จะได้รับงบประมาณ 200-300 ล้านบาทแล้ว ที่ผ่านมาเราจะเห็นบทบาทของ อบจ.ในเรื่องการสร้างถนน และมี อบจ.บางแห่งที่นำเงินภาษีของประชาชนไปใช้ไม่เกิดประโยชน์ ดังนั้น อบจ.จึงเป็นเรื่องใกล้ตัวกับเรามาก

ที่ผ่านมามี อบจ.บางแห่งที่ทำผลงานได้อย่างดีเยี่ยม เช่น อบจ.ภูเก็ต มีการซื้อ รพ.เอกชนมาทำโรงพยาบาลของตัวเอง หรือสร้างระบบรถเมล์ในจังหวัด หรือที่ อบจ.น่าน ซึ่งเป็นจังหวัดที่ห่างไกลจะให้เด็กได้ไปเที่ยวกรุงเทพฯ หรือเชียงใหม่ก็ลำบาก อบจ.จึงสร้างศูนย์ดาราศาสตร์ท้องฟ้าจำลองใกล้ที่ตั้งตัวเองเลย หรือใน จ.เชียงราย อบจ.มีการทำโรงเรียนกีฬา จนสามารถผลิตเยาวชนไปเป็นนักฟุตบอลทีมชาติชื่อดัง อย่าง เอกนิษฐ์ ปัญญา

ถือเป็นหลากหลายนโยบายที่ อบจ.ในจังหวัดต่าง ๆ จัดทำขึ้นก็แล้วแต่ว่าใครจะเห็นความสำคัญเรื่องไหน เพราะ อบจ.เป็นหน่วยงานที่ได้รับการยกระดับหลังมีกฎหมายกระจายอำนาจที่ตามมากับรัฐธรรมนูญฉบับ 40 ซึ่งกฎหมายที่ตามมาในปี 42 ให้อำนาจ อบจ.กว้างมาก และทำให้หน่วยงานท้องถิ่นนี้ทำอะไรได้มากขึ้น ก็ขึ้นอยู่กับผู้บริหารขององค์กรที่ต้องใช้ความกล้าในการต่อกรกับข้าราชการส่วนกลาง หน่วยงานตรวจสอบต่าง ๆ เพื่อผลักดันนโยบายออกมาแก่ประชาชนในพื้นที่

“อย่างไรก็ดี นักการเมืองส่วนใหญ่นั้นไม่ชอบการกระจายอำนาจจากส่วนกลางสู่ท้องถิ่น เพราะทำให้งบประมาณที่จัดแจงมันน้อย เขาต้องการงบประมาณไว้หล่อเลี้ยงเครือข่าย ส่งเงินอุดหนุนให้ท้องถิ่น ซึ่งที่ถูกนั้นเราควรให้ท้องถิ่นได้คิดเอง บางเรื่องอาจจะไม่ตรงกับที่รัฐบาลกลางต้องการก็ได้”

ห่วงคนมาใช้สิทธิน้อยกว่าเดิม

ดร.ณัฐกร มีมุมมองถึงการเลือกตั้ง อบจ.ในครั้งนี้ว่า ปกติคนไปเลือกตั้งท้องถิ่นอย่าง อบจ.นั้นจะน้อยกว่าการเลือกตั้งระดับชาติอยู่แล้ว คือ มีตัวเลขมาว่าการเลือกตั้ง อบจ.ครั้งล่าสุด มีคนไปใช้สิทธิไม่ถึง 70% ขณะที่การเลือกตั้งระดับชาติจะอยู่ที่ 80% ขึ้นไป และการประกาศให้วันอาทิตย์ที่ 20 ธ.ค. 63 เป็นวันเลือกตั้ง มันเป็นวันที่อยู่ใกล้ช่วงที่กำลังจะมีการหยุดยาวช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ จึงอาจมีคนมาใช้สิทธิน้อยลงกว่าเดิม

“ผมมองว่าไม่เพียงแต่คนจะมาใช้สิทธิน้อยเท่านั้น การหาเสียงเลือกตั้งอบจ.ช่วงนี้ก็ยังเงียบเหงา แทบไม่เห็นการขึ้นป้ายหาเสียง หรือการหาเสียง ทุกอย่างค่อนข้างเงียบ สาเหตุก็เพราะทุกคนกังวลว่าทำอะไรไปจะมีคนมาร้องเรียนหรือไม่ ความคึกคักในเรื่องหาเสียงจึงไม่มาก เพราะกฎหมายการเลือกตั้ง อบจ.นี้ค่อนข้างเข้มงวด และไม่ได้เข้มงวดกับผู้สมัครเท่านั้น กฎหมายเลือกตั้ง อบจ.ครั้งนี้ยังมีผลต่อผู้มาใช้สิทธิด้วย”

กล่าวคือ หากผู้ที่มีสิทธิไม่มาเลือกตั้ง อบจ. คุณจะไม่สามารถลงสมัครเลือกตั้งเพื่อเป็นข้าราชการการเมืองทั้งระดับท้องถิ่นและระดับชาติเป็นเวลา 2 ปี นี่คือสิ่งที่เพิ่มเข้ามา จากเดิมที่เราไม่ไปเลือกตั้งท้องถิ่น เราจะเสียสิทธิแค่ห้ามลงสมัครในการปกครองท้องถิ่น ถ้ามีเลือกตั้งหน่วยงานท้องถิ่นอื่น เราไปใช้สิทธิทุกอย่างก็จบได้สิทธิกลับมา แต่กฎหมายใหม่กินยาวไปถึงการลงสมัคร ส.ส. ระดับชาติเลยด้วย ดังนั้นขอย้ำคนที่อยากจะลงสมัครเป็น ส.ส. จะละเลยการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ได้เด็ดขาด

เชื่อสะท้อนการเมืองระดับชาติ

ดร.ณัฐกร ชี้ว่าการเลือกตั้ง อบจ.ครั้งนี้อาจจะสามารถสะท้อนความนิยมของรัฐบาลและการเมืองระดับชาติได้ เพราะแม้พรรคร่วมรัฐบาลทั้งหมดจะประกาศว่าไม่ได้สนับสนุนหรือส่งใครลงเลือกตั้ง แต่ประชาชนก็รู้ว่าผู้สมัครรายใดมีความสนิทสนมกับใคร เป็นน้องเป็นญาติใคร อีกอย่างพรรคฝ่ายค้านอย่างพรรคเพื่อไทยประกาศส่งคนลงเลือกตั้งชิงตำแหน่งนายก อบจ. หรือคณะก้าวหน้าที่มาจากพรรคอนาคตใหม่ที่โดนยุบประกาศส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งด้วย ทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้คนเข้าคูหากาผู้สมัครคนใด เราสามารถคาดเดาได้ว่าเขาเลือกเพราะเหตุอะไร “อาจเลือกผู้สมัครจากพรรคที่ชอบมากกว่าจะดูตัวบุคคลก็เป็นได้”

สิ่งนี้ทำให้การเลือกตั้ง อบจ.ครั้งนี้ น่าจะแตกต่างจากครั้งก่อน ๆ อย่างพรรคเพื่อไทยเดิมนั้นไม่ยุ่งการเมืองท้องถิ่น ใครอยากจะลงก็ลงได้ บางพื้นที่มีคนของพรรคเพื่อไทยมาแข่งกันเองด้วย แต่ครั้งนี้พรรคเพื่อไทยเขาระบุชัดว่าสนับสนุนใคร ดังนั้นใครชนะเลือกตั้งมันอาจสะท้อนความสัมพันธ์กับการเมืองระดับชาติได้ แต่มันเป็นเพียงการคาดเดาเท่านั้น เพราะผลคะแนน อบจ.ออกมาก็อาจไม่สะท้อนการเมืองระดับชาติเลยก็ได้ เนื่องจากยังมีตัวแปรหลายอย่าง ตรงนี้จึงไม่เหมือนการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานคร ซึ่งคนต่างจังหวัดยังต้องตามข่าวเลือกตั้งผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานคร เพราะเป็นภาพสะท้อนตัวแทนการเมืองระดับชาติที่ชัดเจนมาก

“การแข่งขันในศึก อบจ.ในหลายพื้นที่ก็น่าสนใจ โดยเฉพาะในภาคอีสาน หรือในพื้นที่ซึ่งมีการปะทะกันระหว่างผู้สมัครจากเพื่อไทยชนกับคณะก้าวหน้า ก็น่าสนใจมาก หรือในบุรีรัมย์ที่ กรุณา ชิดชอบ ภรรยาเนวิน ประกาศวางมือและส่งหลานลงสู้ ก็ดูว่าจะมัดใจคนในพื้นที่ได้หรืออาจจะเจอความท้าทายจากคู่แข่งเป็นต้น”

การเมืองท้องถิ่นก้าวหน้าไปไกล

สำหรับคนที่สนใจการเมืองท้องถิ่นมานาน จะได้ยินเรื่องการรณรงค์เลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดมาโดยตลอด ซึ่งก็ยังเป็นแนวทางข้อเสนอที่ยังไม่เป็นจริง ทาง ดร.ณัฐกร มองว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดนั้นเป็นการปกครองส่วนภูมิภาค ปกครองข้าราชการส่วนกลางที่ส่งมา มีอำนาจบางอย่างที่หน่วยงานในกรุงเทพฯ ให้อำนาจฝากไว้ในการอนุมัติ เช่น การอนุญาตตั้ง ปั๊มน้ำมัน เราไม่ต้องไปขอที่หน่วยงานในกรุงเทพฯ ผู้ว่าฯ มีอำนาจอนุมัติให้เราได้ ส่วน อบจ.นั้นมาทีหลัง แม้มีพื้นที่ทับซ้อนกับผู้ว่าราชการจังหวัด แต่อำนาจไม่ได้ซ้อนทับกันเลย ตรงนี้อยากเรียนให้เข้าใจว่า ถ้าเราเลือกผู้ว่าฯ แล้วไม่มีสภา มันก็ไม่มีประโยชน์ ถ้าได้ผู้ว่าฯ มาจากการเลือกตั้ง แต่รองผู้ว่าฯ ยังเป็นการแต่งตั้ง การดำเนินงานมันก็ยาก เพราะมันไม่มีกลไกอื่นทางการเมืองรองรับ

ดังนั้นเราควรผ่องถ่ายอำนาจบางอย่างให้กับหน่วยงานท้องถิ่นจากอำนาจของผู้ว่าฯ แล้วปรับบทบาทการปกครองส่วนภูมิภาคให้น้อยลง ให้อำนาจที่ใกล้ชิดบังคับใช้กับประชาชนมาอยู่ในตัว อบจ.แทนจะดีกว่าคนส่วนใหญ่มักจะกังวลว่า อำนาจบางอย่างมาอยู่ในตัวนายก อบจ.แล้วจะมีเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่นอำนาจเปิดสถานบริการ ก็กลัวว่าสถานบริการจะผุดเป็นดอกเห็ดไม่เหมือนตอนให้ผู้ว่าฯอนุมัติ เรื่องนี้ควรจะนำมาถกเถียงกันในอนาคตต่อไป

อย่างไรก็ดี ปัจจุบัน การเมืองท้องถิ่นนั้นก้าวหน้าไปมากตั้งแต่หลังปี 2540 เป็นต้นมา แม้จะเจอการรัฐประหาร 2 ครั้ง โดยเฉพาะในปี 2557 ที่หยุดยั้งความเติบโตของการเมืองท้องถิ่น แต่ถึงที่สุดเราก็ปฏิเสธการกระจายอำนาจไม่ได้ เพราะมีหลายเรื่องที่รัฐบาลกลางไม่จำเป็นต้องยุ่ง เพราะมันเป็นเรื่องเล็กเกินกว่าจะเข้ามาเกี่ยวข้อง ให้องค์กรท้องถิ่นเข้ามาทำเองจะแบ่งเบาภาระรัฐบาลกลางได้ดีกว่า.