อุดรฯ เปิดเวทีแก้ปัญหาฝุ่นและกลิ่น มลพิษทางอากาศสร้างนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม

 


17 มี.ค. 2564 กลุ่มงานสื่อสารสังคม สช. รายงานว่าสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดอุดรธานี คณะกรรมการพัฒนาและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมจังหวัดอุดรธานี โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)  ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหามลภาวะทางอากาศที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชาชนในจังหวัดอุดรธานี จึงได้จัดเวที เวทีสมัชชานโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมจังหวัดอุดรธานี พ.ศ. 2564 “อุดรธานี อากาศดีอย่างยั่งยืน” เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2564 ณ ศูนย์ประชุมมลฑาทิพย์ฮอลล์ จังหวัดอุดรธานี โดยมีภาคีเครือข่ายจากหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐและเอกชน ตลอดจนตัวแทนจากเกษตรกร ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบ เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นแนวทางแก้ไขปัญหา “ฝุ่นละออง PM 2.5” ผ่านเวทีสมัชชานโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมจังหวัดอุดรธานี เพื่อปัญหาลดมลพิษทางอากาศอย่างยั่งยืน

นายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี เปิดเผยว่ามลภาวะทางอากาศเป็นปัญหาที่ส่งผลต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชาชนเป็นอย่างมาก ทุกคนไม่ว่ายากดีมีจนล้วนได้รับผลกระทบแทบทั้งสิ้น แม้ว่าที่ผ่านมีความพยายามในการแก้ไขปัญหาในทุกระดับ โดยรัฐบาลได้กำหนดให้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) เป็นวาระแห่งชาติ ในปี พ.ศ.2562 มีการจัดทำแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติที่ระบุ ให้ส่วนราชการตั้งแต่ระดับกระทรวง จังหวัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการ แต่ในข้อเท็จจริงกลับพบว่าคุณภาพอากาศยังไม่ดีขึ้นเท่าที่ควร และมักจะทวีความรุนแรงในช่วงเดือนมกราคม ถึง มีนาคมของทุกปี 

การแก้ไขปัญหามลภาวะทางอากาศจะอาศัยการดำเนินงานของภาครัฐเพียงลำพังไม่ได้ ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของประชาชนและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้ก่อให้เกิดมลพิษ ซึ่งต้องปรึกษาหารือให้เกิดทางออกซึ่งเป็นที่ยอมรับและเกิดประโยชน์ร่วมกันทุกฝ่าย จึงเป็นที่มาของการพัฒนานโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมในครั้งนี้ ซึ่งเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคประชาชน และภาควิชาการ ได้ปรึกษาหารือ และร่วมกันพัฒนานโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วมขึ้นมา ซึ่งแตกต่างจากนโยบายภาครัฐที่เน้นการสั่งการจากบนลงล่างที่บางครั้งก็ประสบปัญหาในการปฏิบัติเนื่องจากความไม่สอดคล้องกับบริบทพื้นที่ หรือไม่ได้รับความร่วมมือจากภาคส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
การแก้ไขปัญหาด้วยนโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม จึงเป็นทั้งเครื่องมือและกระบวนการที่มาเติมเต็มช่องว่างของนโยบายสาธารณะข้างต้น ให้ทุกภาคส่วนและทุกพื้นที่ได้ปรึกษาหารือถึงความเป็นไปได้ในแนวทางปฏิบัติ เกิดฉันทมติที่ทุกภาคส่วนยินยอมพร้อมใจดำเนินการด้วยความตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อตนเองและส่วนรวม 

ผศ.ทพ.ดร.วีระศักดิ์ พุทธาศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่าวิกฤติฝุ่นจิ๋วครั้งนี้จะเป็นโอกาสรวมพลังของทุกคนในสังคมร่วมกันคิด ร่วมกันทำ เพื่ออากาศและสภาพแวดล้อมที่ดีเป็นมรดกส่งต่อให้รุ่นลูกหลาน มลพิษทางอากาศโดยเฉพาะฝุ่น PM2.5 นี้เป็นปัญหาที่คนไทยทุกภูมิภาคต้องเผชิญและไม่ได้มีแนวโน้มเบาบางจากการจัดการของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ครั้งนี้เรามาร่วมกันจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย ว่าด้วย การจัดการปัญหามลพิษทางอากาศจากฝุ่นพีเอ็ม 2.5 และกลิ่นที่เกิดจากการทำยางสวนพารา โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน และเสนอต่อหน่วยงานและผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน พร้อมนำสู่การปฏิบัติได้จริง เวทีวันนี้เป็นความมั่งมั่นของคนอุดรธานีผ่านการนำประกาศเจตนารมณ์โดยท่านผู้ว่าราชการจังหวัดทำให้มีพลังต่อการขับเคลื่อนมากขึ้น เราใช้กระบวนการสมัชชาที่ให้ประชาชน หน่วยงานของรัฐ และที่เกี่ยวข้องได้ร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ด้วยหลักการเรียนรู้อย่างสมานฉันท์ เพื่อนำไปสู่การเสนอแนะสู่นโยบายสาธารณะ โดยจัดให้มีการประชุมอย่างเป็นระบบและอย่างมีส่วนร่วม

กระบวนการเรียนรู้และหาฉันทมติของสมัชชาอุดรธานีเพื่อ “อุดรธานี อากาศดีอย่างยั่งยืน” โดยมุ่งหวังที่จะเห็นการสร้างส่วนร่วมบูรณาการ ราชการ วิชาการ เอกชน ประชาสังคม ร่วมกันหาทางออกและทำงานตามปัญหามลพิษทางอากาศของพื้นที่

นอกจากจังหวัดอุดรธานีแล้วยังมีเวทีทำนองเดียวกันนี้ที่เชียงใหม่ สงขลา นครราชสีมา สระบุรีและขอนแก่น รวมทั้งเวทีของกลุ่มธุรกิจเอกชน หน่วยงานราชการ และเยาวชนคนรุ่นใหม่ด้วย ทาง สช.และ สสส.จะรวบรวมความรู้และความเห็นจากเวทีต่างๆ มาคุยหาฉันทมติกันในเวทีสมัชชาเฉพาะประเด็นว่าด้วยเรื่องนี้โดยเฉพาะอีกครั้ง