จัดการน้ำเพื่อสันติภาพอย่างไร วันที่ไทยเผชิญภาวะโลกเดือด
เมื่อวันที่ 18-25 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา สภาน้ำโลก (World Water Council) ร่วมกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ได้จัดการประชุมน้ำโลก ครั้งที่ 10 (World Water Forum 10th) ณ เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย จัดขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 ในทุก ๆ 3 ปี เป็นงานระดับนานาชาติที่มุ่งเน้นจัดการกับความท้าทายด้านน้ำทั่วโลก มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อปรับปรุงการจัดการน้ำและบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเฉพาะเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) ข้อที่ 6 ซึ่งมุ่งเน้นไปที่น้ำสะอาดและสุขาภิบาล
หัวข้อการประชุมในปีนี้คือ “น้ำเพื่อการแบ่งปันความเจริญรุ่งเรือง” (Water for Shared Prosperity) มีการประชุมและกิจกรรมต่าง ๆ รวมถึงการอภิปรายเฉพาะเรื่อง การเจรจาทางการเมือง และมุมมองระดับภูมิภาคเกี่ยวกับประเด็นน้ำ หัวข้อสำคัญภายในงานได้แก่ การปรับปรุงคุณภาพน้ำ การอนุรักษ์ระบบนิเวศน้ำจืด การลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ และการกำกับดูแลและความร่วมมือในการจัดการน้ำ
นอกจากการประชุม หรือวงเสวนาหลักแล้ว ยังมีงานแสดงสินค้าและงานแสดงนวัตกรรมด้านน้ำ และมีพื้นที่สำหรับผู้เข้าร่วมในการสร้างเครือข่าย แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และส่งเสริมงานด้านทรัพยากรน้ำในการปรับปรุงการจัดการน้ำและการเข้าถึงด้วย
วิกฤตการใช้น้ำ ไทยจะบรรลุเป้าหมายการใช้น้ำเพื่อสันติภาพได้อย่างไร?
ในปี พ.ศ. 2567 องค์กรสหประชาชาติกำหนดประเด็นวันน้ำโลกภายใต้หัวข้อ “น้ำเพื่อสันติภาพ” (Water for Peace) เพื่อเน้นย้ำให้เห็นว่าปัญหาการขาดแคลนน้ำ น้ำมีคุณภาพไม่เหมาะสมกับการอุปโภค-บริโภค รวมถึงความไม่เท่าเทียมในการเข้าถึงทรัพยากรน้ำจะเป็นสาเหตุทำให้เกิดการแย่งชิงน้ำและนำมาซึ่งความขัดแย้ง และจากข้อมูลจากกรมทรัพยากรน้ำพบว่า ความต้องการใช้น้ำของประเทศไทยในปี พ.ศ. 2567 จำนวน 151,746 ล้านลบ.ม. โดยแบ่งเป็นน้ำเพื่อการเกษตร 113,960 ล้านลบ.ม. น้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศ 27,090 ล้านลบม. และน้ำเพื่ออุตสาหกรรม 4,206 ล้านลบ.ม.
ประเทศไทยได้ดำเนินการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำตามแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ และเพื่อบรรลุเป้าหมายตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580) โดยเศรษฐา ทวีศิลป์ นายกรัฐมนตรีได้ประกาศย้ำให้ประชาชนร่วมกันอนุรักษ์แบ่งปันและใช้น้ำอย่างมีคุณค่า ในวันน้ำโลก เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา
ด้านสำนักทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สนทช.) ได้รับมอบหมายมาจากรัฐมนตรี จากการที่ประเทศไทยเป็นสมาชิกสภาน้ำแห่งเอเชีย (AWC) จึงเป็นเหตุผลในการเข้าประชุมในครั้งนี้เพื่อเป็นตัวแทนรัฐบาลไทย เป้าหมายการเข้าประชุมครั้งนี้เพื่อพบปะสมาชิกชาติอื่น ๆ ที่จะทำงานร่วมกันในอนาคต
นโยบายของหน่วยงานรัฐที่จะขับเคลื่อนในเรื่องน้ำคือการเร่งรัดเรื่องการพัฒนาบริหารจัดการน้ำสู่ความเป็นธรรม เพื่อนำไปสู่ความยั่งยืนของการมีน้ำใช้ในทุกภาคส่วน และลดความขัดแย้ง เพื่อไปสู่สันติภาพในเรื่องการใช้น้ำ อันจะนำไปสู่สันติภาพในภาคส่วนอื่น ๆ ด้วย เช่นการพัฒนาในภาคอุตสาหกรรม และภาคการเกษตร ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความร่วมมือทั้งในประเทศ ระหว่างประเทศและระดับโลก และเกิดความยั่งยืนในการใช้ทรัพยากรน้ำ
“เราคาดหวังในเรื่องความร่วมมือกับประเทศจีน คือ China Institute of Water Resources and Hydropower Research (IWHR) เป็นสถาบันวิจัยระดับประเทศภายใต้กระทรวงทรัพยากรน้ำ สาธารณรัฐประชาชนจีน ที่มีความเข้มแข็งและมีความเชี่ยวชาญในด้านการจัดการน้ำเป็นอย่างมาก ได้เดินทางไปประเทศจีนเพื่อประชุม เรื่อง World Water Congress ที่เมืองปักกิ่ง ไปดูงานของ IWHR ได้เห็นเทคโนโลยีของเขาในหลาย ๆ เรื่องที่จะสามารถนำมาปรับใช้กับประเทศไทยได้ จึงมีความคาดหวังว่าอยากสร้างความร่วมมือกับจีนในเรื่องที่จะทำโครงการต่าง ๆ เพื่อพัฒนาเรื่องน้ำในประเทศไทย และเราต้องการที่จะขอความร่วมมือแบบทวิภาคี (Bilateral) กับทาง IWHR เพื่อสร้าง MOU ร่วมกัน ถือว่าครั้งนี้เป็นโอกาสดีที่เราจะได้ร่วมพูดคุยกัน” ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าว
ดร.สุรสีห์กล่าวต่อว่าหลังจากนี้ ทางสถาบันวิจัยระดับประเทศภายใต้กระทรวงทรัพยากรน้ำ สาธารณรัฐประชาชนจีน (IWHR) และสภาน้ำแห่งเอเชีย (AWC) จะเป็นเจ้าภาพในการจัดงาน Asian International Water Week (AIWW) ซึ่งจะจัดขึ้นในช่วงเดือนกันยายนที่จะถึงนี้ และจะมีการร่วมสร้างบันทึกความเข้าใจ (MOU) เรื่องการบริหารจัดการน้ำ เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และนวัตกรรมในการจัดการน้ำต่อไป รวมถึงจะมีทุนในการพัฒนาบุคลากรในองค์กร เนื่องจากเป้าหมายของไทยโดยเฉพาะเมืองใหญ่ ๆ คือจะทำอย่างไรให้เกิดความมั่นคงในเรื่องน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค และเรื่องคุณภาพน้ำ และการบริหารจัดการน้ำแบบ Nature-based Solution”
ดร.สุรสีห์อธิบายว่า น้ำเพื่อสันติภาพนั้น โจทย์คือจะทำอย่างไรเพื่อจะลดความขัดแย้งให้มากที่สุด หากมีความขัดแย้งหรือผลกระทบในเรื่องทรัพยากรน้ำในประเทศและพื้นที่ลุ่มน้ำโขง ต้องมีการเรียกร้องให้เกิดการเปิดเผยข้อมูลและมาตรการลดผลกระทบเหล่านี้ด้วย หรือในชุมชนหากน้ำไม่เพียงพอก็จะเกิดการแย่งชิงน้ำ ประเด็นคือจะทำอย่างไรให้เกิดการแบ่งปันน้ำกันอย่างเท่าเทียม เพื่อนำไปสู่การลดความขัดแย้ง
“หากมีหลาย ๆ ภาคส่วนต้องการใช้น้ำ แต่น้ำมีจำกัด เช่น ภาคตะวันออก เราก็ต้องหาทางออก อย่างการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่หากไม่สามารถทำได้ การเกิดขึ้นของกองทุนน้ำก็มีความสำคัญเพื่อนำไปสู่การชดเชยต่อไป เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับทุกภาคส่วนให้มากที่สุด” ดร.สุรสีห์กล่าว
การจัดการน้ำแบบ Nature-Based Solution
องค์กรระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) ให้คำจำกัดความของแนวทางในการแก้ปัญหาที่อาศัยธรรมชาติเป็นพื้นฐาน (Nature-based Solution: Nbs) หมายถึง การดำเนินงานเพื่อคุ้มครอง จัดการอย่างยั่งยืนและฟื้นฟูระบบนิเวศ โดยการจัดการกับความท้าทายด้านสังคมอย่างมีประสิทธิภาพและปรับให้เข้ากับสถานการณ์เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของมนุษย์ และดำรงรักษาประโยชน์ของความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งจะทดลองนำร่องโครงการในจังหวัดนครราชสีมาก่อน
“ตอนนี้เราก็พยายามส่งเสริมการปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้งซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ลดปริมาณน้ําในการทำเกษตรกรรมได้ อีกส่วนหนึ่งคือการเปลี่ยนชนิดพืชส่งเสริมอาชีพแทนการปลูกข้าว ด้วยวิวัฒนาการหรือสังคมมันเปลี่ยนแปลงไปจากสังคมเกษตรกรรมมาป็นสังคมเมืองมากขึ้น เช่น จังหวัดนครราชสีมา จึงควรมีกองทุนน้ําเพื่อให้สามารถเยียวยาผลกระทบที่เกษตรกรผชิญจากกรณีน้ำแล้งหรือน้ำท่วมจนไม่สามารถทำการเกษตรได้” ดร.สุรสีห์กล่าว
โลกเดือด-รวน ความท้าทายที่ไทยกำลังเผชิญ
ด้าน ดร.ธนพล พิมาน หัวหน้าฝ่ายการบริหารจัดการน้ำและนักวิจัยอาวุโส สถาบันสิ่งแวดล้อมสตอกโฮล์ม (SEI) ได้เดินทางเข้าร่วมงานประชุมน้ำโลกในครั้งนี้กล่าวกับกับประชาธรรมว่า ไทยมีความท้าทายในเรื่องความไม่แน่นอน เนื่องจากปัจจุบันความแปรปรวนของสภาพอากาศสูงมาก และปัญหาด้านน้ำของประเทศไทยมีอยู่ 3 เรื่องหลัก ๆ คือ หนึ่ง เรื่องน้ำท่วม สอง เรื่องน้ำแล้ง และสาม เรื่องน้ำเสีย เนื่องจากน้ำเป็นเรื่องของเวลา เช่น น้ำมากอาจส่งผลให้น้ำท่วมอย่างกรณีพื้นที่ภาคกลาง หรือน้ำน้อย อาจส่งผลให้เกิดความแล้ง อย่างกรณีพื้นที่ภาคอีสาน หรือน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม เขตพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ก็จะเป็นเรื่องของคุณภาพน้ำ ดร.ธนพลย้ำว่าการประสานงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานเป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากมีหลาย ๆ หน่วยงานที่ทำงานซ้ำซ้อน และมองว่าต้องมีการรวมข้อมูลกันมากขึ้น หากไทยมีข้อมูลที่มีความพลวัต สามารถนำไปใช้ได้ทันทีจะทำให้การตัดสินใจทันท่วงทีมากขึ้น
หน่วยงานแต่ละหน่วยงานจะมีกลุ่มผู้ได้เสีย อย่างกลุ่มผู้ใช้น้ำ เพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งที่เกิดขึ้น อย่างช่วงแล้ง น้ำไม่เพียงพอ รัฐก็ประกาศให้ชาวนางดทำข้าวนาปรัง แต่ก็ยังมีความพยายามที่จะเอาน้ําไปใช้เพื่อข้าวนาปรังอยู่ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เป็นหน้าที่ของรัฐคือการให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน ประกอบการตัดสินใจว่า ด้วยสถานการณ์เป็นแบบนี้ ชุมชนต้องรับมืออย่างไร นอกจากนี้กฎหมายมีเนื้อหากำหนดไว้แล้วว่าลำดับความสำคัญของการใช้น้ำคือน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค สอง เพื่อสิ่งแวดล้อม และสามคือการทำเกษตรกรรม ชุมชนเองต้องมีกลไกในพื้นที่ ผ่านผู้ใหญ่บ้าน ผ่านกำนันที่ต้องดูแลกันเองในพื้นที่ มีระบบติดตามที่หากใครไม่ได้ทำตามที่ตกลงกันไว้ จะมีผลอย่างไร ชุมชนจะมีกฎกติกาของกลุ่มผู้ใช้น้ำกันเองภายในด้วย
“หากเป็นความขัดแย้งที่รุนแรงก็ต้องมีคนกลางไกล่เกลี่ย ต้องดูว่าเป็นความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านกับชาวบ้าน หรือชาวบ้านกับรัฐ และจะมีโอกาสเจรจาพูดคุยหาทางออกร่วมกันหรือไม่ แต่หากไม่สามารถทำได้ ก็ต้องมีหน่วยงานกลางในการเจรจาพูดคุยต่อไป เช่น สถาบันการศึกษา มหาวิทยาลัย หรือวัด” ดร.ธนพลกล่าว
อย่างไรก็ตาม จากการร่วมประชุมในครั้งนี้ ดร.ธนพลเห็นว่ามีความหลากหลายของทุกภาคส่วนที่มาร่วมงานในครั้งนี้ และเนื้อเรื่องที่เห็นในงานมีหลายเรื่องที่น่าสนใจ มีประเด็นที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้หรือเป็นบทเรียนให้กับการจัดการน้ำในประเทศไทยหรือภูมิภาคลุ่มน้ำโขงได้ และเห็นว่าการประชุมนี้ค่อนข้างให้ความสำคัญกับพื้นที่ลุ่มน้ำโขงพอสมควร มีหลายส่วนที่มีการพูดถึงบทเรียนหรืออาจจัดการน้ำในลุ่มน้ำโขง ทำให้เห็นว่าน้ำโขงไม่ใช่เรื่องระดับประเทศหรือภูมิภาค แต่กำลังจะเป็นเรื่องระดับโลก
“มันไม่สามารถพูดแค่เรื่องวิศวกรรมอย่างเดียวได้แล้ว ต้องมีเรื่องสังคม เศรษฐกิจด้วย เนื่องจากการบริหารจัดการที่ผ่านมาเราเอาเรื่องวิศวกรรมนำ ทุกอย่างก็ออกมาเป็นสิ่งก่อสร้าง คอนกรีต ถึงเวลาที่เราจะต้องคิดใหม่ ทำใหม่ อาจจะต้องมาดูเรื่องของสิ่งแวดล้อมเพื่อไปตอบโจทย์ความยั่งยืน เพราะเสาหลักหนึ่งของความยั่งยืนคือเรื่องสิ่งแวดล้อม” ดร.ธนพลทิ้งท้าย
อนึ่ง การประชุมน้ำโลก ครั้งที่ 10 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 18-25 พฤษภาคม 2567โดยมีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เช่น Expo สินค้านวัตกรรมน้ำ รวมถึงงาน Bali Street Carnival สามารถดูรายละเอียดเนื้อหาเพิ่มเติมภายในงานได้ทาง https://worldwaterforum.org/
รายงานชิ้นนี้เขียนโดยกนกพร จันทร์พลอย | เผยแพร่ครั้งแรกในเว็บไซต์ประชาธรรม